คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา134 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบก่อนทำการสอบสวนหมายความว่า กฎหมายต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนสอบสวนว่าตนต้องถูกสอบสวนเรื่องอันใดเป็นประธานที่ต้องทำการสอบสวนมิได้หมายความว่าจะต้องแจ้งทุกๆ กระทงความผิด แม้เดิมจะตั้งข้อหาฐานหนึ่ง แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นความผิดฐานอื่นด้วย ก็เรียกว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นด้วยแล้ว
เดิมพยานโจทก์ถูกสอบสวนในฐานผู้ต้องหา ต่อมาอัยการผู้สอบสวนพูดว่าจะให้การตามความจริงได้ไหม ถ้าให้การตามความจริงจะเอาเป็นพยานพยานโจทก์ปากนี้เกรงว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาจึงให้การใหม่ และกลับให้การใหม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงโยนบรรดาการกระทำผิดทั้งหลายที่ให้การไว้เดิมอันเป็นข้อพิรุธของตนนั้นให้เป็นการกระทำของจำเลยโดยสิ้นเชิงเช่นนี้เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา133
จำเลยเป็นอัยการแต่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีนี้แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้บอกให้พยานกลับเมื่อพยานนั้นเป็นพยานที่ศาลหมายเรียกมา ไม่ใช่อัยการนำไปให้ศาลสืบดังนั้นการที่จะให้พยานรอเพื่อเบิกความหรือให้กลับย่อมเป็นเรื่องของศาลทั้งได้ความจากพยานโจทก์ว่าการบอกให้พยานกลับไม่จำเป็นต้องเฉพาะอัยการเป็นผู้บอกทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยแสดงต่อพยานนั้นว่าจำเลยเป็นอัยการคงทำหน้าที่นั้นอยู่ดังนี้จึงเรียกไม่ได้ว่าจำเลยยังขืนกระทำการตามตำแหน่งหน้าที่อัยการอันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา127 วรรคสองฎีกาที่ 1121/2494 ฎีกาที่ 545/2496

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า

1. จำเลยเป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำการกระทำผิด กฎหมายหลายบทหลายกระทงคือ

2. ระหว่าง 1 ต.ค. ถึง 17 ธ.ค. 94 จำเลยในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยศาลทหารกรุงเทพ มีหน้าที่ไต่สวนและฟ้องคดีอาญา จำเลยทุจริตบังอาจเรียกและรับสินบนจากผู้มีชื่อหลายคน เพื่อเป็นเครื่องอุปการะแก่การที่จำเลยจะอาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยช่วยเหลือพลฯ สุข พลฯ มาลี พลฯ สวัสดิ์ พลฯ อำพัน ซึ่งกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์มิให้ต้องรับอาญา

3. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 94 เป็นวันนัดสืบพยานโจทก์คดีดำที่ 42 ก./2494 จำเลยเป็นอัยการมีหน้าที่เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวได้เพทุบายว่า พลฯ สวัสดิ์ จำเลยที่ 2 ป่วย ความจริง พลฯ สวัสดิ์ไม่ป่วย ทั้งนี้โดยจำเลยเจตนาจะประวิงเวลาเพื่อมีเวลาเสี้ยมสอนพยานโจทก์ให้เบิกความผิดพลาดไปจากความจริงเพื่อช่วยเหลือพลทหารทั้ง 4 มิต้องได้รับอาญา

4. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 94 เป็นวันที่จำเลยพ้นจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยฯ ไปแล้วจำเลยยังฝ่าฝืนกระทำการเป็นเจ้าพนักงานในหน้าที่อัยการในคดีดำ42 ก./2494 โดยเพทุบายบอกให้นายตีพงษ์ นางบุ้นเองพยานโจทก์ในคดีนั้นซึ่งมาศาลตามนัดให้กลับไปเสีย คนทั้งสองหลงเชื่อจึงกลับไปโดยมิได้เบิกความเป็นเหตุให้ศาลต้องนัดเลื่อนสืบพยานทั้งสองปากนี้

ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายอาญา มาตรา 127, 137, 138, 142, 71 ฯลฯ

จำเลยให้การปฏิเสธและตัดฟ้องว่า

1. ฟ้องโจทก์ข้อ 2 ไม่ระบุวันกระทำผิดและรายละเอียดแห่งข้อหาเป็นฟ้องเคลือบคลุม

2. การสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับทหารว่าด้วยระเบียบจัดการทางคดี จึงถือว่ามีการสอบสวนแล้วไม่ได้ เฉพาะฟ้องข้อมิได้ถูกสอบสวน

3. เฉพาะอัยการโจทก์เท่านั้นมีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 80 อัยการผู้ช่วยหรือผู้อื่นหามีอำนาจไม่

4. คดีนี้เป็นคดีปะปนพลเรือนร่วมกระทำผิดไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

5. คำสั่งแต่งตั้งอัยการผู้ช่วย เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วย กฎหมาย

ชั้นแรกศาลทหารกรุงเทพฯ วินิจฉัยข้อตัดฟ้องของจำเลยทุกข้อเป็นคุณแก่โจทก์ ศาลทหารกลางพิพากษากลับคำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพฯให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลย คดีจึงขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ครั้งแรกศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลทหารกลาง ให้ศาลทหารกลางวินิจฉัยข้อกฎหมายอื่นและข้อเท็จจริงในท้องสำนวนต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามกระบวนความ ข้อตัดฟ้องของจำเลย ข้อ 3 ข้อ 5 เป็นอันยุติ

ศาลทหารกรุงเทพฯ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด 2 กระทงคือฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกและรับสินบนตามกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรกให้จำคุก 1 ปี 6 เดือนกระทงหนึ่ง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเพทุบายกระทำการที่ไม่ควรกระทำตาม มาตรา 142 วรรคแรก ให้จำคุก 4 เดือนอีกกระทงหนึ่ง ฯลฯ

ศาลทหารกลางพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพฯ ว่าจำเลยมีความผิดตาม กฎหมายอาญา มาตรา 127 วรรค 2 ให้จำคุกจำเลยไว้ 6 เดือน ข้อหาอื่น ๆ นอกจากนี้ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์และผู้มีอำนาจสั่งลงโทษฎีกาคนละฉบับมีใจความเช่นเดียวกันขอให้ลงโทษจำเลยทุกกระทงเต็มตามฟ้อง ฝ่ายจำเลยฎีกาว่าไม่ควรมีความผิดเลย

ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยที่ว่าการสอบสวนจำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และข้อบังคับทหารฯ นั้นเห็นว่าเดิมจำเลยรับราชการอยู่ในกรมพระธรรมนูญระหว่างนั้นเองกรณีนี้ได้เกิดขึ้น เจ้ากรมพระธรรมนูญซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยในขณะเกิดคดีจึงมีอำนาจสั่งให้ทำการสอบสวนได้

ส่วนข้อฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่าข้อหาตามฟ้องโจทก์ข้อ 3 ข้อ 4 จำเลยไม่เคยถูกสอบสวนเลย จึงต้องถือว่าคดีมิได้มีการสอบสวนโจทก์จะฟ้องไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบนั้นได้ความว่าอัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ทำการสอบสวนจำเลยในข้อหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกและรับสินบนแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบก่อนทำการสอบสวนหมายความว่า กฎหมายต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนสอบสวนว่าตนต้องถูกสอบสวนเรื่องใดอันเป็นประธานที่ต้องทำการสอบสวน หาได้มีความหมายว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งทุก ๆ กระทงความผิดไม่แม้เดิมจะต้องข้อหาฐานหนึ่งแต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นความผิดฐานอื่นด้วยก็เรียกว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นด้วยแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1121/2494 ระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพฯโจทก์ พันตรีสรินทร์ มังคลัษเฐียรกับพวก จำเลย ฎีกาที่ 545/2496 ระหว่าง อัยการปากพนัง โจทก์ นายเลื่อน กาญจนโอภาษ จำเลย

ฟ้องของโจทก์ที่หาว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนนั้นตามหลักฐานพยานท้องสำนวนปรากฏว่าร้อยเอกนวลกับร้อยตรีจรวญอยู่ในฐานะเป็นผู้ร่วมสมรู้กระทำผิดด้วยกันกับจำเลย เจ้ากรมพระธรรมนูญจึงถือว่าคนทั้งสองนี้เป็นผู้ต้องหาด้วยขอให้ส่งตัวไปให้อัยการสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง และได้ความจากร้อยเอกนวบว่าก่อนถูกสอบสวนครั้งหลัง พันตรีสุนทรผู้สอบสวนพูดว่าจะให้การเสียใหม่ตามความจริงได้ไหมและชี้ข้อที่ไม่เป็นความจริงให้ดูแล้วว่า ถ้าให้การตามความจริงจะเอาเป็นพยาน ร้อยเอกนวลเข้าใจว่าถ้ายังยืนยันให้การตามเดิมก็จะตกเป็นต้องหาด้วยเลยให้การใหม่ เจ้ากรมพระธรรมนูญจึงมีหนังสือถึง ผบ.พล.1 ใหม่ว่า ร้อยเอกนวลและร้อยตรีจรวญให้การใหม่แล้วจึงไม่ถือว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้ต้องหาและได้สอบสวนในฐานะเป็นพยาน ปรากฏว่าโดยเฉพาะร้อยตรีจรวญกลับให้การต่ออัยการผู้สอบสวนใหม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงโยนบรรดาการกระทำผิดทั้งหลายที่ให้การไว้เดิมอันเป็นข้อพิรุธของตนนั้นให้เป็นการกระทำผิดของจำเลยโดยสิ้นเชิงทั้งนี้เป็นการไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 อนึ่งถ้อยคำของร้อยตรีจรวญชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาก็ขัดกันฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้

ฟ้องของโจทก์ในข้อว่าจำเลยได้เพทุบายแสดงต่อศาลว่า พลฯ สวัสดิ์ป่วยมาศาลไม่ได้ซึ่งความจริงมิได้ป่วยเป็นเหตุให้ศาลต้องเลื่อนคดีไปนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พลฯ สวัสดิ์ ป่วยจริงทั้งฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับว่าจะไปติดต่อผู้เสียหายอย่างใด จำเลยยังไม่มีความผิดฐานนี้

ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยยังฝ่าฝืนขืนกระทำการเป็นเจ้าพนักงานนั้น ข้อเท็จจริงยังเถียงกันอยู่ แม้จะฟังตามพยานโจทก์เบิกความศาลฎีกาก็เห็นว่าการที่นายตีพงษ์ นางบุ้นเฮงไปศาลนั้นเพราะศาลหมายเรียก ไม่ใช่อัยการนำไปให้ศาลสืบ ดังนั้นการที่จะให้พยานรอเพื่อเบิกความหรือให้กลับย่อมเป็นเรื่องของศาล และได้ความจากพยานโจทก์ว่า การบอกให้พยานกลับไม่จำเป็นต้องเฉพาะอัยการเป็นผู้บอกทั้งจำเลยก็มิได้แสดงต่อนายตีพงษ์ นางบุ้นเฮงว่าจำเลยเป็นอัยการคงทำหน้าที่นั้นอยุ่ กรณีเป็นดังนี้จึงเรียกไม่ได้ว่าจำเลยยังขืนกระทำการตามตำแหน่งหน้าที่อัยการดังโจทก์ฟ้อง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทหารกลางว่าให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหา

Share