คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8398/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3835 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 446/2 ให้แก่โจทก์ และรับชำระราคาที่ดินจากโจทก์จำนวน 4,000,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าอากร และภาษีเงินได้ให้จำเลยรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้ประจำวงเงิน 4,000,000 บาท หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 4,000,000 บาท โดยโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หากไม่อาจบังคับจำเลยได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 31,660,000 บาท
จำเลยให้การว่า ตามเจตนาระหว่างจำเลยกับโจทก์ เมื่อตกลงเงื่อนไขซื้อขายที่ดินกันได้แล้วยังจะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างกันอีก แต่โจทก์และจำเลยไม่มีการติดต่อกัน ดังนั้น จึงไม่มีสัญญาเกิดขึ้น และค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3835 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแก่โจทก์ และรับชำระราคาที่ดินตามเงื่อนไขที่จำเลยเป็นผู้ทำคำเสนอไว้ในหนังสือฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2532 หากโอนไม่ได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินรวม 28,700,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำเสนอของจำเลยตามเอกสารหมาย จ. 7 และคำสนองรับของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 8 ก่อให้เกิดสัญญาขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ. 7 มีใจความว่า จำเลยไม่อาจตกลงตามข้อเสนอของโจทก์ แต่จำเลยตกลงจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ในราคา 12,000,000 บาท และเสนอเงื่อนไขขึ้นหลายอย่าง เช่นเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน การเก็บรักษาเครื่องจักรที่นำยึดไว้ กำหนดให้โจทก์ต้องเข้าร่วมประมูล สู้ราคาในการขายทอดตลาดเครื่องจักรนั้น กับจำเลยจะให้สินเชื่อแก่โจทก์ประเภทเงินกู้ประจำ จำนวน 4,000,000 บาท กับวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 4,000,000 บาท เป็นต้น และในหนังสือของจำเลยดังกล่าว ตอนท้ายมีข้อความระบุว่า จำเลยรับรองจะผูกพันตามข้อเสนอดังกล่าวเพียง 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2532 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลย ตามเอกสารหมาย จ. 8 ตอบตกลงตามหลักเกณฑ์ที่ทางจำเลยแจ้งมาทุกประการ และแจ้งว่าบริษัทชินกฤติ์ จำกัด จะเป็นผู้เข้าทำนิติกรรมกับจำเลย และก่อนหน้านี้โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยเสนอขอซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 12,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ. 6 ในหนังสือฉบับนี้ ก็มีข้อความระบุว่าหากจำเลยตกลงตามหลักการของโจทก์ที่เสนอนั้น ก็ขอให้จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า 30 วัน เพื่อจะได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมารับโอนทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยเช่นกัน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532 โจทก์ได้ดำเนินการเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารจำเลย ในนามบริษัทชินกฤติ์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ. 16 และในคราวที่โจทก์ร้องเรียนต่อประธานกรรมการธนาคารจำเลยเรื่องที่จำเลยได้บิดพลิ้วการจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ ซึ่งในหนังสือฉบับนี้ โจทก์ได้กล่าวถึงว่าทางโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทชินกฤติ์ จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการที่กำหนด กับได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารจำเลยไว้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532 และตอนที่โจทก์มีหนังสือแจ้งกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยมีหนังสือแจ้งตอบโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 3 ว่าจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากระยะเวลาได้ล่วงเลย ตามที่จำเลยแจ้งไว้ในหนังสือเอกสารหมาย จ. 7 เท่านั้น จากหนังสือติดต่อระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าว จำเลยไม่เคยโต้แย้งหรือทักท้วงว่าจะไม่ยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัทชินกฤติ์ จำกัด ดังที่โจทก์แจ้งไว้ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยมีเจตนาทำคำเสนอจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์โดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือบริษัทชินกฤติ์ จำกัด เป็นผู้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์ดังกล่าวก็ไม่น่ามีผลแตกต่างกันเพราะบริษัทชินกฤติ์ จำกัด ที่โจทก์จัดตั้งขึ้น ตามเอกสารหมาย จ. 17 ก็มีชื่อโจทก์กับนางวารุณี ชินสุวพลา พี่สาวโจทก์เป็นกรรมการร่วมกันเพียง 2 คน ซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำการแทนบริษัทได้ ดังนั้น พฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกันดังกล่าว พิจารณาประกอบหลักการตีความการแสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ที่ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าตัวอักษร และหลักการตีความสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ที่ให้ตีความตามความประสงค์ในทางสุจริตแล้ว ต้องถือว่าคำเสนอของจำเลยและคำสนองรับของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ. 7 และ จ. 8 ตามลำดับถูกต้องตรงกัน สัญญาจะซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยได้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ มีผลผูกพันจำเลยแล้ว แม้จะยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกันก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อคำสนองรับของโจทก์เป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะปฏิบัติได้ ความเสียหายของโจทก์ไม่เกิดขึ้น และโจทก์มิได้แสดงให้ปรากฏว่าโจทก์มีภาระใดอันจะเกิดความเสียหายในกรณีที่จำเลยไม่ตกลงโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยจำเลยปฏิเสธไม่ยอมโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 28,700,000 บาท ในกรณีที่จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ไม่ได้นั้น ทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่า ปัจจุบัน ที่ดินพิพาทมีราคาซื้อขายตารางวาละ 30,000 บาท เป็นราคาที่ดินทั้งแปลง 27,660,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างมีราคา 3,000,000 บาท เท่านั้น แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดเจนว่าหากจำเลยโอนขายที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ไม่ได้ โจทก์จะต้องได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นจำนวนเท่าใด ดังนี้ ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ดังกล่าวจึงสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้ลดต่ำลง โดยกำหนดให้เพียงจำนวน 1,500,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share