คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839-840/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ให้รับผิดละเมิดในฐานผู้รับประกันวินาศภัยโดยบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า’จำเลยเป็นผู้รับประกันวินาศภัยต่อจำเลยเป็นเจ้าของจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทุกประเภทจนครบ หาได้บรรยายแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า สัญญาประกันภัยนั้นได้ระบุให้จำเลยที่ 6 จะต้องรับผิดถึงความเสียหายของบุคคลภายนอก คือ โจทก์ ไว้ทั้งคำขอที่จะให้บังคับจำเลยที่ 6 ในลักษณะอย่างไร ก็ไม่ได้กล่าวถึงซึ่งจะเป็นข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านี้แต่ประการใดไม่
ย่อมเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม

ย่อยาว

คดี 2 สำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 เป็นเจ้าของรถยนต์ร่วมกันจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 6 เป็นผู้รับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 5 ได้ขับรถคันนั้นของจำเลยที่เป็นนายจ้างโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้พันโทรณรงค์ อุตตมะรูป กับผู้เดินทางร่วมอีกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย และรถยนต์ของพันโทรณรงค์เสียหายใช้การไม่ได้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้ง 6 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย

สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องมีข้อความเดียวกับสำนวนแรก โดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาเล่าเรียนของโจทก์ทั้ง 2 จากจำเลย

จำเลยที่ 1, 3, 4 ให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ได้จ้างจำเลยที่ 5

จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเจ้าของรถยนต์คนเดียว และจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของตน แต่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ขับรถโดยประมาท ฯลฯ และฟ้องแย้งให้โจทก์กับพวกใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2

จำเลยที่ 6 ต่อสู้หลายประการ ข้อสำคัญก็คือ จำเลยที่ 6 ไม่ต้องรับผิด

จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดชั้นพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึง 5 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าการศึกษาบุตร ค่าปลงศพและค่ารถยนต์แก่โจทก์สำนวนแรก สำหรับสำนวนหลังให้ร่วมกันใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่นางยวงแก้วโจทก์ที่ 1 ค่าอุปการะและค่าการศึกษาแก่เด็กหญิงวัลลีย์โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยดังกล่าวใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายแทนโจทก์ด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งนางประไพกับพวกโจทก์ และโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องจำเลยที่ 6 นั้น ให้ยกเสียฯ

นางประไพกับพวก โจทก์สำนวนแรกอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 อุทธรณ์หลายประการ

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องของโจทก์เสียทั้ง 2 สำนวน กับให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้ง 2 สำนวนฎีกา ขอให้จำเลยทุกคนร่วมกันรับผิดตามฟ้องจำเลยที่ 2 ฎีกา ขอให้โจทก์สำนวนแรกรับผิดตามฟ้อง

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 5 ฝ่ายเดียวขับรถยนต์โดยประมาท จำเลยที่ 2 กับที่ 5 ต้องร่วมกันรับผิด ไม่ฟังว่าจำเลยที่ 1, 3, 4 เป็นเจ้าของรถยนต์กับจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์ไม่มีพยานว่าจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1, 3, 4 และวินิจฉัยในข้อกฎหมายเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 6 ว่าโจทก์บรรยายฟ้องสำหรับจำเลยนี้เพียงว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้รับประกันวินาศภัยต่อจำเลยผู้เป็นเจ้าของ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทุกประเภทจนครบ หาได้บรรยายแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าสัญญาประกันภัยนั้นได้ระบุให้จำเลยที่ 6 จะต้องรับผิดถึงความเสียหายของบุคคลภายนอก คือ โจทก์ไว้ ทั้งคำขอที่จะให้บังคับจำเลยที่ 6 ในลักษณะอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแต่ประการใดไม่ ฟ้องโจทก์สำนวนแรกสำหรับจำเลยที่ 6 จึงเป็นการเคลือบคลุม ดังที่ศาลทั้งสองวินิจฉัย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาให้จำเลยที่ 2, 5 ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่นางประไพกับพวกโจทก์สำนวนแรกและร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์สำนวนหลัง คือโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และใช้ค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นแก่โจทก์ทั้ง 2 สำนวน ส่วนค่าทนายความ 3 ศาล ให้จำเลยที่ 2 กับที่ 5 ร่วมกันใช้ให้โจทก์สำนวนแรกและให้จำเลยที่ 2 กับที่ 5 ใช้ค่าทนายความสำนวนหลัง3 ศาล สำหรับจำเลยอื่นเป็นพับไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share