แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งขัดกันหรือไม่ เมื่อโจทก์ในคดีดังกล่าว (คือจำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงไม่ใช่กรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146
กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 คดีนี้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง และคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่โจทก์คดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เนื่องจากคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งและคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกันโดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและมีประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ ทั้งจำเลยที่ 1 อ้างส่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นสำคัญในคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงให้นำสำนวนในคดีก่อนมาประกอบการพิจารณาคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 187
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมแซมบ้าน ค่าอุปกรณ์ และค่าแรงงานรวมจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันกระทำละเมิด คือวันที่ 19 ธันวาคม 2554 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 10,882 บาท รวมเป็นเงิน 160,882 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความทุกฝ่ายรับข้อเท็จจริงว่า สายเคเบิลไม่ใช่สายเคเบิลโทรศัพท์ของจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 10,882 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ จำนวน 6,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งขัดกันหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏตามคำแก้ฎีกาและเอกสารท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ในคดีดังกล่าว (คือจำเลยที่ 2 คดีนี้) ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงไม่ใช่กรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่ 2 ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 คดีนี้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง และคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน แต่โจทก์คดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่ 3 ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บ้านของโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มีความสูงไม่เกินตามกฎหมายกำหนด จำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า สายเคเบิล เพื่อไม่ให้สายดังกล่าวหย่อนลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ไปเกี่ยวสายดังกล่าวทำให้เสาไฟฟ้าและสายดังกล่าวล้มทับบ้านและทรัพย์สินของโจทก์จนได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อนั้น เนื่องจากคดีก่อนคือคดีหมายเลขดำที่ 2538/2555 หมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งและคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกันโดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและมีประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ ทั้งจำเลยที่ 1 อ้างส่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นสำคัญในคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงให้นำสำนวนในคดีก่อนมาประกอบ การพิจารณาคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 187 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ขณะรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 จอดติดสัญญาณจราจรไฟสีแดงนั้น ทราบว่ามีสายหล่นลงมาใส่รถเนื่องจากมีการกระแทก และสายดังกล่าวหล่นใส่รถขณะเคลื่อนตัวช้า ๆ แตกต่างจากที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขับรถเริ่มเคลื่อนตัวออกไปได้ 10 เมตร จึงได้ยินเสียงดังบนหลังคารถบรรทุกของจำเลยที่ 1 คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่กับร่องกับรอย จึงทำให้ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านอีกว่า ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกผ่านจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งหักศอก จำเลยที่ 1 ไม่เห็นสายเคเบิลโทรศัพท์และเห็นไม่ชัดเนื่องจากแดดส่องหน้า จากคำเบิกความดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกผ่านจุดเกิดเหตุเป็นประจำย่อมรู้ว่ามี สายเคเบิลโทรศัพท์พาดผ่านถนนประกอบกับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 เป็นรถขนาดใหญ่ที่นั่งคนขับอยู่ในระดับสูงย่อมมองเห็นทิวทัศน์ตลอดจนวัตถุที่อยู่ด้านหน้าได้อย่างชัดเจน การที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่ามองไม่เห็นสายเคเบิลโทรศัพท์จึงไม่มีเหตุผลพอให้รับฟังได้ เพราะสายเคเบิลโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นเส้นสีดำขนาดใหญ่ หากเป็นความจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่เห็นสายดังกล่าว ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการขาดความระมัดระวังเท่าที่ควร จึงมิได้สังเกตเห็นวัตถุที่ทอดขวางอยู่ข้างหน้า หรืออาจเป็นเพราะความชะล่าใจว่าขับผ่านจุดที่เกิดเหตุไป โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถเข้าออกเป็นประจำทุกวัน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเสาไฟฟ้ามีสายไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 และสายเคเบิลโทรศัพท์ของผู้อื่นพาดผ่านเสาไฟฟ้าโดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 เมื่อสายดังกล่าวพาดข้ามถนน ตรอก ซอยซึ่งมีประชาชนใช้รถยนต์สัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน จำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของเสาไฟฟ้าและเป็นผู้ยินยอมให้สายเคเบิลโทรศัพท์ของผู้อื่นพาดเสาไฟฟ้าย่อมมีหน้าที่ตรวจตราดูแลซ่อมแซมให้สายดังกล่าวอยู่ในสภาพปกติ ไม่ให้หย่อนต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้รถยนต์และสายดังกล่าวมาเกี่ยวกัน อันจะทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์ของประชาชน แม้จะได้ความจากนายวิเชียรพยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน มีรถบรรทุกปูนซีเมนต์ผสมเสร็จชนเสาไฟฟ้าและเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ทอดผ่านถนนให้หย่อนลงมาตรงถนนที่เกิดเหตุ นายวิเชียรโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 หมายเลขกลาง 1130 แล้ว แต่เป็นการแจ้งปลายสายระบบอัตโนมัติ จะต้องต่อหมายเลขภายในหลายขั้นตอนซึ่งเป็นวันหยุดไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย นายวิเชียรจึงไม่ได้แจ้งเรื่องไว้ ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เจ้าของสายไฟฟ้ายังมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลรักษาหรือซ่อมแซมให้เสาไฟฟ้าและสายเคเบิลโทรศัพท์อยู่ในสภาพเรียบร้อยปลอดภัยแก่ผู้สัญจรไปมา ตามข้อตกลงการใช้เสาไฟฟ้าสำหรับพาดสายระหว่างจำเลยที่ 2 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เสาไฟฟ้าที่มีการพาดสายดังกล่าวผ่านถนนที่มีรถสัญจรไปมาต้องมีความสูงอย่างน้อย 4.625 เมตร จากระดับทางเท้าหรือระดับผิวจราจร การที่รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มีความสูง 3.40 เมตร ไปเกี่ยวเอาสายเคเบิลโทรศัพท์ที่หย่อนพาดผ่านถนนที่เกิดเหตุ ทำให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ได้รับความเสียหายย่อมถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจตรา ไม่รีบบำรุงรักษาซ่อมแซมให้เสาไฟฟ้าและสายเคเบิลโทรศัพท์อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมา นับว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างประมาทเลินเล่อด้วยกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาให้จำเลยที่ 2 รับผิดด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม และศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นและระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ