แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งของนายจ้างที่ลงโทษและภาคทัณฑ์ลูกจ้างระบุว่าลูกจ้างทำผิดวินัย และมีคำเตือนว่าหากลูกจ้างกระทำผิดวินัยข้อใดอีกนายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่คำสั่งดังกล่าวมิได้ระบุว่าลูกจ้างกระทำการใดที่ถือว่าเป็นการผิดวินัย ทั้งได้ระบุข้อวินัยที่อ้างว่าลูกจ้างทำผิดไว้ถึง 5 ข้อ เช่นนี้ จึงเป็นการเตือนที่กว้างเกินไป ลูกจ้างย่อมไม่อาจทราบและปรับปรุงตนเองเพื่อมิให้กระทำผิดซ้ำคำเตือนนี้ได้ นายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือนดังกล่าวและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) มิได้ ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานบริการมีหน้าที่ทำงานในลักษณะทั่วไปที่ใช้แรงงาน เช่น รักษาความสะอาด ยาม พนักงานเดินหนังสือได้รับคำสั่งให้มาทำหน้าที่เปิดปิดประตูสำนักงาน มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด โดยมักจะมาเปิดประตูไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานส่งเอกสาร จำเลยกลั่นแกล้งตัดเงินเดือนโจทก์และเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินค่าล่วงเวลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างที่จำเลยตัดเงินเดือนโจทก์ เงินสะสมที่จำเลยหักจากเงินเดือนโจทก์ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2528 ไม่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ให้โจทก์ผลัดเปลี่ยนกันเปิด-ปิดประตูสำนักงานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ละทิ้งการงานที่ได้รับมอบหมายจำเลยได้มีหนังสือลงโทษและภาคทัณฑ์โจทก์เป็นเวลา 1 ปี แต่โจทก์ยังคงกระทำผิดวินัยในข้อเดิมอีก เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างที่จำเลยตัดเงินเดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ชำระเงินสะสมแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2526 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่พนักงานส่งหนังสือ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งจัดให้โจทก์เป็นพนักงานบริการซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยหมายถึงพนักงานที่ทำงานในลักษณะทั่วไปที่ใช้แรงงาน เช่น พนักงานรักษาความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย ยาม พนักงานเดินหนังสือ เป็นต้น หลังจากนั้นนางวันทนา เพิ่มสุวรรณ ผู้จัดการสาขาตากสินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ มีคำสั่งให้โจทก์กับนายศุภชัย เต็มแสวงเลิศมาทำหน้าที่เปิดปิดประตูสำนักงานโดยผลัดกันคนละ 1 เดือน โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด มักจะมาเปิดประตูไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนและภาคทัณฑ์โจทก์เป็นเวลา1 ปี ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2530จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.5
จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่นางวันทนาผู้บังคับบัญชาของโจทก์สั่งให้โจทก์มาเปิดปิดประตูสำนักงานย่อมเป็นคำสั่งที่ชอบ โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัดเป็นการขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาจำเลยย่อมมีสิทธิลงโทษและภาคทัณฑ์โจทก์ได้ และเมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำเตือน (หนังสือลงโทษภาคทัณฑ์) จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิเคราะห์แล้ว คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษและภาคทัณฑ์โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 นั้น ระบุว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยตามระเบียบว่าด้วยการพนักงาน 2528 จำนวน 5 ข้อ คือ ข้อ 4.1(2),4.1(3), 4.1(5), 4.1(8) และ 4.1(13) และมีคำเตือนว่าหากโจทก์กระทำผิดวินัยข้อใดก็ตามในบริษัทฯ อีก หลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศตักเตือนเป็นคำสั่งฉบับนี้แล้ว บริษัทฯ อาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2530 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าหลังจากจำเลยได้มีคำสั่งลงโทษและภาคทัณฑ์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมิได้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นยังคงกระทำผิดในข้อเดิมอีก คือไม่ให้ความเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาฯ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของจำเลยซึ่งจำเลยอุทธรณ์อ้างว่าเป็นคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.4 นั้น มิได้ระบุว่าโจทก์กระทำการใดที่จำเลยถือว่าเป็นการผิดวินัยของพนักงานรวม 5 ข้อ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่ระบุว่าโจทก์ทำผิดวินัยข้อใดบ้างเท่านั้น ทั้งได้ระบุข้อที่ทำผิดไว้ถึง 5 ข้อ จึงเป็นการเตือนที่กว้างเกินไปโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างย่อมไม่อาจทราบและปรับปรุงตนเองเพื่อมิให้กระทำผิดซ้ำคำเตือนนี้ได้ กรณีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) เมื่อปรากฏว่าหนังสือเตือนครั้งแรกเป็นการเตือนที่กว้างเกินไปดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์ทำผิดซ้ำคำเตือนได้ เมื่อเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้มาเปิดปิดประตูสำนักงานแล้วมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง