แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “กำลังศึกษาในชั้นอุดมศึกษา” ในมาตรา 49 แห่งพระราชบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 หมายถึง การศึกษาต่อจากชั้นเตรียมอุดมศึกษา แต่ยังไม่จบชั้นอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี โจทก์ร่วมเป็นบุตรของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ตายและจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีแล้ว การที่โจทก์ร่วมสมัครเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีอีก ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมเปลี่ยนแปลงฐานะกลับเป็นกำลังศึกษาในชั้นอุดมศึกษาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามกฎหมายดังกล่าว และข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 48
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับเงินสงเคราะห์ตกทอดส่วนของนายวิทยาซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งของ ฟ. เกินไป ๖๗,๙๑๒ บาท
โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการชำระเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า พ. ผู้ตายไม่มีทายาทอื่นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดอีก ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานายวิทยาร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามฟ้องหรือไม่ ข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๔๘ ระบุว่าเงินสงเคราะห์ตกทอดให้อนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งมาตรา ๔๕ บัญญัติว่า “บำนาญพิเศษที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ ให้จ่ายโดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขดังนี้ (๑) บุตร ให้มีสิทธิได้รับจนอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์นั้นกำลังศึกษาอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษา หรือในชั้นอุดมศึกษา…… ก็ให้ได้รับต่อไปตลอดเวลาที่ยังทำการศึกษาอยู่ในสถานการศึกษา…….. ” และมาตรา ๔๙ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๓๘ ผู้ได้รับบำนาญปกติอยู่…….. ถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้แก่บุคคลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ เป็นจำนวนสามสิบเท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ…… และให้จ่ายตามส่วนที่กำหนดในมาตรานั้น แต่บุตรซึ่งมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์แล้วในวันที่ข้าราชการผู้นั้นตาย ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด เว้นแต่กำลังศึกษาในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรือชั้นอุดมศึกษา…… และยังมีอายุไม่เกินยี่สิบหกปีบริบูรณ์………” เห็นว่า คำว่า “กำลังศึกษาในชั้นอุดมศึกษา” หมายถึงการศึกษาที่ต่อจากชั้นเตรียมอุดมศึกษา แต่ยังศึกษาไม่จบในชั้นอุดมศึกษาในการศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยคณะใดคณะหนึ่ง โจทก์ร่วมสมัครเข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ ภายหลังจากจบการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ไปแล้ว แม้จะมีคำรับรองจากมหาวิทยาลัยว่าโจทก์ร่วมยังมีสภาพเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปริญญาตรี ในขณะที่บิดาโจทก์ร่วมถึงแก่กรรมก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งศึกษาจนจบชั้นอุดมศึกษาไปแล้วเปลี่ยนแปลงฐานะกลับเป็นกำลังศึกษาชั้นอุดมศึกษาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไปได้ โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟ ฉบับที่ ๔๘ ดังกล่าว และจำเลยทั้งสองไม่จำต้องคืนเงินสงเคราะห์ตกทอดที่ได้รับจากโจทก์ไปแล้วให้โจทก์ร่วม
พิพากษายืน