คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยที่ 1 ได้ออกแคชเชียร์เช็คแก่จำเลยที่ 6โดยเชื่อตามคำหลอกลวงว่าเช็คที่จำเลยที่ 6 นำมาเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ที่มีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่ธนาคารสาขาของจำเลยที่ 1 เป็นของลูกค้าชั้นดีสามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่ต่อมาปรากฏว่าเป็นเช็คที่จำเลยที่ 6 สั่งจ่ายและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทำให้ไม่มีเงินเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ที่ธนาคารสาขาของจำเลยที่ 1 แล้วในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 6 ได้สลักหลังโอนแคชเชียร์เช็คแก่โจทก์แล้วเลิกกิจการหลบหนีไป ต่อมาโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการใช้เงิน เมื่อปรากฏว่ามารดาโจทก์และพี่น้องของภรรยาจำเลยที่ 6 ได้ทราบปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตของจำเลยที่ 6จากเจ้าหน้าที่ของธนาคารจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ตอนเย็นของวันที่ออกแคชเชียร์เช็คแล้ว เชื่อได้ว่ามารดาโจทก์และน้องสาวโจทก์ต้องรีบแจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่คืนวันนั้นว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นน้องเขยของโจทก์กำลังมีปัญหากับธนาคารเพราะโจทก์ยังมีเช็คของจำเลยที่ 6จำนวน 60 ฉบับ อยู่ที่ตนที่ยังไม่ได้นำไปเรียกเก็บเงิน จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 6 ที่ได้แคชเชียร์เช็คมาจากธนาคารจำเลยที่ 1 ตั้งแต่คืนของวันที่ออกแคชเชียร์เช็คแล้วการที่โจทก์รับโอนไว้โดยอ้างว่าเพื่อชำระหนี้ในคืนนั้นจึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต คบคิดกันฉ้อฉลเพื่อยืมมือโจทก์มาฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989ธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามแคชเชียร์เช็คแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาวงเวียน 22 กรกฎา มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 เป็นสมุห์บัญชีและผู้ช่วยสมุห์บัญชี ตามลำดับ โจทก์เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คของจำเลยที่ 1สาขาวงเวียน 22 กรกฎา จำนวนเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4และที่ 5 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในนามของจำเลยที่ 1 โดยสั่งจ่ายเงินตามคำสั่งของจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 6 ได้สลักหลังแคชเชียร์เช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาธนาคารจำเลยที่ 1ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้ด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 6 เพื่อเรียกร้องเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 6 ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบแก่โจทก์และโจทก์นำมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 6 ได้ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มิได้ออกเช็คพิพาทเป็นส่วนตัวจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ร่วมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ถึงที่ 5
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 6เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามบุคกิ้ง และเป็นลูกค้าธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาวงเวียน 22 กรกฎา มานานหลายปีโดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวและได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 2,700,000 บาท มีการเดินสะพัดทางบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน โดยจำเลยที่ 6ได้เบิกเงินไปจากบัญชีเกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้ว เมื่อวันที่11 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้ออกแคชเชียร์เช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 1,800,000 บาท และจ่ายเงินสด1,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 6 โดยเชื่อตามคำหลอกลวงของจำเลยที่ 6ว่าเช็คจำนวน 34 ฉบับ จำนวนเงิน 9,000,000 บาทเศษ ที่นำฝากเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามบุคกิ้งที่ธนาคารสาขาของจำเลยที่ 1 หลายแห่งเป็นเช็คของลูกค้าชั้นดีของจำเลยที่ 6 สามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่ปรากฏต่อมาว่าเป็นเช็คที่จำเลยที่ 6 สั่งจ่ายและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ทำให้ไม่มีเงินมาเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามบุคกิ้งที่ธนาคารจำเลยที่ 1สาขาวงเวียน 22 กรกฎา ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 6 ได้สลักหลังโอนแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวแก่โจทก์แล้วเลิกกิจการหลบหนีไปต่อมาโจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาสีลมเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารจำเลยที่ 1 ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ได้รับโอนแคชเชียร์เช็คพิพาทจากจำเลยที่ 6 โดยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่ ฯลฯข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคนในบ้านมารดาโจทก์ซึ่งมีมารดาและพี่น้องของภรรยาจำเลยที่ 6 ได้ทราบปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตทางการเงินของจำเลยที่ 6 จากเจ้าหน้าที่ของธนาคารตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 11นั้นแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าได้มอบให้นางสุจริตราน้องสาวเป็นคนจัดการรับเช็คจำนวน 60 ฉบับที่จำเลยที่ 6 นำมาแลกเงินสดโดยโอนเงินจากบัญชีของมารดาโจทก์และบัญชีของสามีนางสุจิตราไปเข้าบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามบุคกิ้งให้จำเลยที่ 6 ไปก่อน แต่ก็ปรากฏว่าเช็คจำนวนดังกล่าวโจทก์เพิ่งนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินหลังจากโจทก์ได้รับแคชเชียร์เช็คพิพาทจากจำเลยที่ 6 แล้ว จึงเชื่อได้ว่ามารดาโจทก์และนางสุจิตราต้องรีบแจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่คืนนั้นแล้วว่าจำเลยที่ 6 กำลังมีปัญหากับธนาคารเพราะเช็คของจำเลยที่ 6จำนวน 60 ฉบับ อยู่ที่โจทก์ยังไม่ได้นำไปเรียกเก็บเงิน ทั้งจำเลยที่ 6 เป็นน้องเขยของโจทก์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 6 ที่ได้แคชเชียร์เช็คพิพาทมาจากธนาคารจำเลยที่ 1 ตั้งแต่คืนวันที่ 11 กันยายน 2530 นั้นแล้ว การที่โจทก์ได้รับโอนแคชเชียร์เช็คพิพาทจากจำเลยที่ 6 ไว้โดยอ้างว่าเพื่อชำระหนี้ในคืนนั้นจึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต คบคิดกันฉ้อฉลเพื่อยืมมือโจทก์มาฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916ประกอบมาตรา 989 จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share