คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8366/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80,83 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,83 ผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
จำเลยที่ 2 ได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าท้อง กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ลึกเข้าช่องท้องกระเพาะอาหารและลำไส้ฉีกขาด ขณะนำส่งโรงพยาบาลโจทก์ร่วมมีอาการช็อกเนื่องจากเสียเลือดในช่องท้อง หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ บาดแผลดังกล่าวใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังมีบาดแผลถูกแทงที่บริเวณต้นแขนซ้ายขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร อันเป็นบาดแผลที่เกิดหลังจากจำเลยที่ 2 แทงโจทก์ร่วมที่หน้าท้อง แล้วจำเลยที่ 2 ได้แทงซ้ำแต่โจทก์ร่วมหลบได้ทันจึงถูกที่แขนซ้ายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วมที่ท้องซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ คมมีดลึกเข้าช่องท้องถูกกระเพาะอาหารและลำไส้ฉีกขาด เห็นได้ว่าเป็นการแทงโดยแรงและยังแทงซ้ำอีก แต่โจทก์ร่วมเอี้ยวตัวหลบเสียได้จึงถูกที่บริเวณต้นแขนซ้าย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83,288 ริบมีดของกลาง

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายอมรวุฒิ สุขนันท์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 33 โดยให้ลงโทษจำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ริบมีดปลายแหลมของกลาง ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 297(8) ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 900 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 คนละ 4 เดือน ปรับคนละ 600 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดไม่ร้ายแรงนัก ให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตามฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในความผิดฐานนี้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยโจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้ยุติว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วมจริงโดยมิได้เป็นการป้องกันอันชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.1และคำเบิกความของนาวาโทนายแพทย์เฉลิม กำลังเดช ผู้ตรวจบาดแผลของโจทก์ร่วมว่ามีบาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าท้อง กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ลึกเข้าช่องท้อง กระเพาะอาหารและลำไส้ฉีกขาดขณะนำส่งโรงพยาบาลโจทก์ร่วมมีอาการช็อกเนื่องจากเสียเลือดในช่องท้อง หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ บาดแผลดังกล่าวใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังมีบาดแผลถูกแทงที่บริเวณต้นแขนซ้ายขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร สอดคล้องกับที่โจทก์ร่วมเบิกความว่าเมื่อจำเลยที่ 2 แทงโจทก์ร่วมที่หน้าท้องแล้วได้แทงซ้ำ แต่โจทก์ร่วมหลบได้ทันจึงถูกที่แขนซ้าย ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้ใช้มีดสวนแทงไปไม่ทราบว่าถูกโจทก์ร่วมหรือไม่ เพราะขณะนั้นบริเวณใบหน้าของจำเลยที่ 2 เต็มไปด้วยเลือดทำให้มองไม่เห็นนั้น ฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วมที่ท้องซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ คมมีดลึกเข้าช่องท้องถูกกระเพาะอาหารและลำไส้ฉีกขาด เห็นได้ว่าเป็นการแทงโดยแรงและยังแทงซ้ำอีกแต่โจทก์ร่วมเอี้ยวตัวหลบเสียได้จึงถูกที่บริเวณต้นแขนซ้าย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายจริงตามฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share