คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8361/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และมาตรา 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

Share