แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤตติการณืที่ถือว่าเป็นทางน้ำสาธารณะ
ย่อยาว
ได้ความว่าที่นาทุ่งหัวพรม ตำบลโพรงมะเดื่อมีที่ดอนอยู่ระหว่างที่จำเลยกับนายวัน นายเขียวติดต่อกัน เดิมเป็นป่าไม่มีเจ้าของถึงฤดูน่าน้ำ น้ำปีไหลมาติดที่ดอนแห่งนี้ทำให้นาของราษฎรที่อยู่ด้านตะวันตกราว ๒๐ ครัวเรือนไม่มีน้ำพอหล่อเลี้ยงต้นข้าว เมื่อ ๒๐ ปีเศษมาแล้วกำนันได้เกณฑ์ลูกบ้านขุดที่ดอนนี้ให้เป็นทางน้ำ ตั้งแต่ระหว่างนานายเขียว นายวัน ตรงไปทิศตะวันออกถึงนาจำเลย แล้ววกไปด้านเหนือระหว่างนานายวัน และนาจำเลยเมื่อน้ำปีมาก็ไหลตามทางน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนาด้านตะวันตกประมาณ ๒๐๐ ไร่ ในปีที่ฝนน้อย ถ้าไม่ได้อาศัยทางน้ำนี้ข้าวในนาเหล่านี้ก็เสีย ครั้นเดือน ๙ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จำเลยถมทางน้ำตอนที่ติดต่อกับนาจำเลยตลอดแนวโดยราษฎรไปร้องต่อกรมการอำเภอ ๆ ห้ามปรามจำเลยก็ไม่เชื่อฟัง โจทก์ขอให้ลงโทษตามกฎหมายมาตรา ๓๓๕ ข้อ ๑๐
ศาลชั้นต้นฟังว่าทางน้ำรายนี้เป็นทางสาธารณะ จำเลยผิดตามฟ้องให้ปรับ ๒๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่จะลงโทษจำเลยในเรื่องปิดทางน้ำในทางอาญาได้นั้นโจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความแน่นอนว่าเป็นทางสาธารณะโดยแจ้งชัด ตามข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางน้ำรายพิพาทมีราษฎรราว ๒๐ ครัวเรือนที่มีนาติดต่อประมาณ ๒๐๐ ไร่ เท่านั้นที่อาศัยทางน้ำรายนี้ไปใช้ทำนาในปีที่มีน้ำน้อย และไม่ติดต่อกับทางสาธารณอื่นใด จึงไม่เป็นทางสาธารณะ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าตามเจตนาของผู้เริ่มขุดและพฤตติการณ์ที่ปรากฎมาแล้ว แสดงว่าได้ขุดทำขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์กล่าวคือกำนันเจ้าของท้องที่เกณฑ์ราษฎรช่วยกันขุดทำที่ป่า เพื่อชักเอาน้ำจากด้านหนึ่งให้ไหลไปสู่ทุ่งนาอีกด้านหนึ่ง เป็นประโยชน์แก่การทำนาโดยทั่วไป ไม่มีบุคคลใดจะถือสิทธิหวงห้ามได้ โจทก์นำสืบได้ความชัดเจนดังกล่าว ถือว่าทางน้ำรายพิพาทเป็นทางสาธารณะ พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น