คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์เป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย แต่เมื่อปัญหาข้อกฎหมายนั้นแม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วได้ ดังนี้ ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ได้มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักหนังจระเข้ หนังงูของห้างฯไทยมิตรพัฒนาเทรดดิ้งผู้เสียหายซึ่งอยู่ ในความดูแลรักษาของห้าง ฯ ตั้งจิ้นเส็งสาขากรุงเทพมหานคร ไปโดยทุจริต ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ดังกล่าวไปหรือมิฉะนั้นก็ร่วมกันรับไว้ซึ่งทรัพย์ดังกล่าวโดยรู้อยู่ แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335(7), 357, 83, 93กับเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายด้วย
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ของกลางเพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวยังไม่โอนมายังโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาเฉพาะในปัญหาที่ว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางโอนมายังโจทก์ร่วมแล้วหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ กรณีจึงเป็นอันเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้เสียแล้ว ฉะนั้น ตามปัญหาที่มาสู่ ศาลฎีกาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางโอนมายังโจทก์ร่วมแล้วหรือไม่นั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อกฏหมายซึ่งผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อกฏหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์ร่วม.

Share