แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลสั่งว่าคดีไม่มีมูลเป็นความผิดให้ยกฟ้องแล้วนั้นถือว่าเป็นเรื่องยกฟ้องตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ไม่ใช่มาตรา 161 อัยยการหรือเจ้าทุกข์จะยื่นฟ้องใหม่ไม่ได้
ย่อยาว
เดิมเจ้าทุกข์คดีนี้ได้ยื่นฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกง ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีไม่มีมูลเป็นความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญา ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว
บัดนี้อัยยการยื่นฟ้องคดีนี้อีก และเจ้าทุกข์ได้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ฝ่ายข้างมากมีความเห็นว่า ในคดีรายเดียวกันนี้ถ้าเจ้าทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยครั้งหนึ่งแล้ว ศาลได้ยกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดฐานฉ้อโกงในทางอาญา นับได้ว่าศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว พนักงานอัยยการก็ดี เจ้าทุกข์ก็ดี จะฟ้องร้องอีกหาได้ไม่ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์
แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่า ในคดีเดิมศาลชั้นต้นยังมิได้พิพากษาเพียงแต่สั่งไม่รับฟ้อง มิได้ทำคำสั่งตามแบบการทำคำพิพากษา จะว่าศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไม่ได้ ควรต้องพิจารณาชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไป
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าตามที่ศาลชั้นต้นในสำนวนก่อนว่า “ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญา ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย” เช่นนี้เป็นเรื่องที่ศาลยกฟ้องโดยจำเลยมิได้กระทำผิดตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ มิใช่เรื่องให้ยกฟ้องเพราะปรากฎว่าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา ๑๖๑ ฉะนั้นต้องถือว่าคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามมาตรา ๓๙ (๔) แล้ว พนักงานอัยยการก็ดี เจ้าทุกข์ก็ดี จะนำคดีมาฟ้องใหม่ไม่ได้
ส่วนข้อที่ว่าในเรื่องก่อน ศาลเพียงแต่สั่งไม่รับฟ้อง ยังมิได้มีคำพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาในกรณีนี้มีลักษณะอย่างเดียวกัน มิได้มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่าต้องทำคำสั่งตามแบบคำพิพากษา การที่จะทราบว่าคดีเสร็จเด็ดขาดแล้วหรือไม่นั้น ต้องพิะเคราะห์ตามความประสงค์ของคำสั่งนั้น ว่ามุ่งหมายจะวินิจฉัยอย่างไร ในคดีนี้เห็นได้ชัดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องว่าได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง มิใช่เพียงแต่ติฟ้องในเรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตาม มาตรา ๑๖๑ เท่านั้นฉะนั้นคดีจึงต้องระงับไปตามมาตรา ๓๙(๔) จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์