แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันตกลงทำหนังสือสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์และตกลง รับเป็นผู้จัดหาที่ดิน หรือจะกระทำโดยวิธีการใดก็ตามให้โจทก์ ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ในที่ดินของบุคคลอื่นอีกด้วย โดยจำเลยทั้งสองจะขายที่ดิน และจัดหาที่ดินดังกล่าว ข้ออ้างของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจะซื้อขายฉบับพิพาท จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินจำนวน 38 แปลง ตามฟ้องจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับข้อเท็จจริงส่วนนั้นตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสองคงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าโจทก์เป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียวโดยอ้างเหตุต่าง ๆ มาในคำให้การ และว่าเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิปรับเอาแก่จำเลยทั้งสองคดีตามคำฟ้องและคำให้การในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจะขายที่ดินฉบับพิพาทจึงคงมีประเด็นแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินอีก 47 แปลงที่เหลือหรือไม่เท่านั้น และคดีไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเดียวกันหรือแยกออกเป็นสองสัญญาโจทก์บอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และการบอกเลิกสัญญา ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาทั้งหมดอันเป็นผล ให้โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือไม่ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากที่เป็นประเด็นข้อพิพาท และขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสองยอมรับแล้วไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาจัดหาที่ดินตามฟ้อง และโจทก์ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง ตามสัญญาและเรียกเบี้ยปรับในส่วนที่จำเลยทั้งสองมิได้จัดหาที่ดินจำนวน 47 แปลง จากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ได้ซื้อครบถ้วนตามสัญญาโดยโจทก์ได้เลิกสัญญาในส่วนนี้แล้ว โจทก์จึงชอบที่จะ บังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง ตามที่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ และมอบเอกสารสิทธิ เกี่ยวกับที่ดินไว้แก่โจทก์แล้วได้ แต่โจทก์ต้องชำระเงิน ค่าที่ดินส่วนที่ขาดแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนที่จำเลยทั้งสองตกลงจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นมาให้โจทก์ได้ซื้อรวม 47 แปลงแต่ไม่สามารถจัดหาได้ครบและโจทก์ได้เลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการใช้สิทธิเลิกสัญญาของโจทก์ในส่วนนี้หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสี่ และแม้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและจัดหาที่ดินฉบับพิพาทได้ตกลงให้ชำระเบี้ยปรับเป็นรายแปลง แปลงละ 600,000 บาท โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเบี้ยปรับ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวน พอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่าง อันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน” เมื่อเบี้ยปรับตามสัญญาโจทก์คิดคำนวณผลกำไรที่จะได้จาก การประกอบกิจการเลี้ยงโคหรือถ้าขายที่ดินก็จะได้กำไร จากการขายที่ดิน ความเสียหายจากการที่ต้องเสียเงินเช่าที่ดิน ทำคอกกักโค ค่าลงทุนทำรั้ว ไถดิน ปลูกหญ้า สร้างโรงพยาบาลสัตว์ในที่ดินที่เช่า และต้องเสียค่าจ้างพนักงาน อีกทั้งค่าเสียหายจากการที่โจทก์ได้สั่งซื้อโคจากต่างประเทศ แต่ได้ระงับการนำโคเข้าประเทศเนื่องจากไม่มีสถานที่เลี้ยง ทำให้ผู้ขายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์นั้น ล้วนเป็นการ ที่โจทก์คาดคะเนและเป็นค่าเสียหายที่ห่างไกลจาก การผิดสัญญาของจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ย ให้แก่ธนาคารจากต้นเงินที่โจทก์นำมาชำระค่าที่ดิน ให้แก่จำเลยทั้งสองก็มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้น จากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ดังนี้เมื่อค่าเสียหาย ที่โจทก์นำสืบนั้นยังไม่แน่นอนและในการกำหนดเบี้ยปรับ ที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระตามสัญญานั้น มิได้มีเกณฑ์แน่นอน หรือน่าเชื่อถือ แต่เป็นการคาดคะเน ศาลจึงไม่กำหนดให้ จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยปรับตามสัญญา แต่การที่จำเลยทั้งสอง มิได้จัดหาที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาโจทก์ย่อมเสียหาย และเมื่อศาลเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับ จึงให้นำเงินค่าปรับ ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ดังกล่าวมาหักออกจาก เงินที่โจทก์ต้องชำระเป็นค่าที่ดินของจำเลยทั้งสองที่ขาดอีก พร้อมกับให้จำเลยทั้งสองรับผิดในดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินนั้นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสองและจัดหาที่ดินหรือกระทำการใดก็ตามให้โจทก์ได้ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแซง อำเภอคันหาจังหวัดชัยนาท ให้ได้เนื้อที่ 2,500 ไร่ถึง 3,500 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันในราคาไร่ละ 8,000 บาท เท่ากันทุกแปลงโดยจำเลยทั้งสองต้องจัดหาที่ดินขายให้โจทก์ให้ครบจำนวนตามแผนผังที่ระบายสีแดงและสีฟ้าท้ายสัญญาภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญายกเว้นที่ดินแปลงที่มีเครื่องหมายกากบาทจำนวน 7 แปลง ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนด 7 เดือน นับแต่วันทำสัญญา หากจำเลยทั้งสองผิดสัญญา จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน กับยอมใช้ค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์สำหรับที่ดินแต่ละแปลง แปลงละ 600,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้จำเลยทั้งสองไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 12,055,100 บาท แต่เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่สามารถขายและจัดหาที่ดินให้โจทก์ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินให้ครบ 77 แปลง ตามแผนผัง จำเลยทั้งสองเพียงแต่ส่งมอบการครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก.) เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 เนื้อที่รวม 1,421 ไร่ 49 ตารางวา ราคา 11,368,980 บาท และในส่วนที่ดินของผู้อื่น คงจัดหาขายให้โจทก์ได้เพียง 9 แปลง เท่านั้น โจทก์ทวงถามให้จำเลยจัดหาที่ดินให้โจทก์เรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินของจำเลยทั้งสอง และให้จัดหาที่ดินจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ภายใน 20 วัน หากพ้นกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โจทก์ได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิครอบครองในที่ดินของจำเลยทั้งสองโจทก์จะฟ้องร้องบังคับคดีและบอกเลิกสัญญาเฉพาะในข้อตกลงที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้แก่โจทก์โดยจำเลยทั้งสองต้องชดใช้เบี้ยปรับแปลงละ 600,000 บาทให้แก่โจทก์ภายใน 10 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉยซึ่งจำเลยทั้งสองต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ในส่วนที่เกินราคาที่ดินของจำเลยทั้งสองให้โจทก์จำนวน 686,120 บาท นอกจากนั้นยังต้องใช้ค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับตามจำนวนที่ดินที่ไม่อาจจัดหาให้โจทก์ได้ 38 แปลง แปลงละ 600,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน22,800,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ให้โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 686,120 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับจำนวน22,800,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่โจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่ยอมจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปจัดหาซื้อที่ดินและไม่จ่ายเงินรับซื้อที่ดินตามสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถจะจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามสัญญาได้ เนื่องจากโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์จะซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรหรือทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และมิได้ดำเนินการแก้ไขเสียก่อน เพียงแต่ให้จดทะเบียนโอนที่ดินไปเป็นชื่อนายสิทธิชัย นวลมณี กรรมการของโจทก์ในฐานะส่วนตัวซึ่งไม่ถูกต้องนอกจากนั้นโจทก์ได้ให้ผู้อื่นเป็นนายหน้าไปหาซื้อที่ดินตามสัญญาแทนจำเลยทั้งสองโดยไม่บอกกล่าวจำเลยทั้งสองเป็นการผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25ตุลาคม 2532 โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและจัดหาที่ดินโดยจำเลยทั้งสองตกลงขายที่ดินของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์จำนวน 30 แปลง และตกลงดำเนินการจัดหาที่ดินหรือกระทำโดยวิธีการใดก็ตามให้โจทก์ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินของบุคคลอื่นอีกด้วยอีกจำนวน 47 แปลง ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายและจัดหาให้แก่โจทก์ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแซง จังหวัดชัยนาท เป็นที่ดินมีแนวเขตติดต่อกันรวมเนื้อที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ ถึง 3,500 ไร่ โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวทุกแปลงในราคาไร่ละ 8,000 บาทคิดราคาที่ดินแต่ละแปลงตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุในเอกสารสิทธิน.ส.3 หรือ น.ส.3 ก.ของที่ดินแต่ละแปลงเป็นราคาซื้อขายที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องจัดการให้โจทก์ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินตามข้อตกลงดังกล่าวทุกแปลงจนครบถ้วน มีเนื้อที่เต็มตามที่ระบุไว้ในแผนผังที่ดินแนบท้ายสัญญาโดยปราศจากภาระจำนอง การเช่า ภารจำยอม การรอนสิทธิ การรบกวนสิทธิสิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ภาระผูกพันหรือภาระติดพันแต่ประการใดทั้งสิ้นภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ยกเว้นที่ดินจำนวน 7 แปลง ที่มีเครื่องหมายกากบาทในแผนผังที่ดินแนบท้ายสัญญาภายในกำหนด 7 เดือน นับแต่วันทำสัญญาหากจำเลยทั้งสองประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินการไม่ถูกต้องหรือไม่ได้ตามสัญญาแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โดยจำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ทุกแปลง เป็นเงินแปลงละ600,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและจัดหาที่ดินเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสองบางส่วน และได้รับหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินบางฉบับจากจำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่สามารถจัดหาที่ดินมาขายให้โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาโจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาส่งถึงจำเลยทั้งสองซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่าโจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลงให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองคืนเงินส่วนที่โจทก์ชำระค่าที่ดินเกินไปจำนวน 686,120 บาท ได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและจัดหาที่ดินมีเจตนารมณ์แยกออกเป็น 2 ลักษณะ 2 สัญญา แต่ระบุข้อความอยู่ในหนังสือสัญญาฉบับเดียวกัน คือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสองและสัญญาตกลงว่า จำเลยทั้งสองจะรับจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้โจทก์ได้ซื้อจนครบจำนวน 2,500 ไร่ ถึง 3,000 ไร่ตามแผนผังที่ดินแนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง ให้แก่โจทก์ และเลิกสัญญากับเรียกเบี้ยปรับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้โจทก์ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันตกลงทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์และตกลงรับเป็นผู้จัดหาที่ดินหรือจะกระทำโดยวิธีการใดก็ตามให้โจทก์ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินของบุคคลอื่นอีกด้วย โดยจำเลยทั้งสองจะขายที่ดินและจัดหาที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นที่ดินตั้งอยู่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคาจังหวัดชัยนาท ซึ่งที่ดินทุกแปลงต้องมีแนวเขตติดต่อกันรวมเป็นผืนแปลงเดียวกัน รวมเนื้อที่ที่ดินทั้งหมด 2,500 ถึง 3,500 ไร่โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวทุกแปลงในราคาไร่ละ 8,000 บาทสำหรับที่ดินของจำเลยทั้งสองที่ตกลงจะขายให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวมีจำนวน 30 แปลง รวมเนื้อที่ได้ 1,421 ไร่ 49 ตารางวาคิดราคาซื้อขายไร่ละ 8,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น11,368,980 บาท ส่วนที่ดินของบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่จะต้องดำเนินการจัดหามาให้โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นนั้น มีจำนวนทั้งหมด 47 แปลง รวมที่ดินตามสัญญาทั้งหมด 77 แปลง ในวันทำสัญญาโจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองรวมแล้วเป็นเงิน12,055,100 บาท นับแต่วันทำสัญญาจำเลยทั้งสองเพียงแต่ส่งมอบการครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง ให้แก่โจทก์และจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้โจทก์ได้เพียง 9 แปลง โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองจัดหาที่ดินให้โจทก์และได้บอกกล่าวแจ้งให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินของจำเลยทั้งสองและให้จัดหาที่ดินจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ภายในเวลา20 วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าว หากล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการจัดการให้โจทก์ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินของจำเลยทั้งสอง โจทก์จะฟ้องร้องบังคับคดีและบอกเลิกสัญญาเฉพาะในข้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้แก่โจทก์โดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้เป็นเบี้ยปรับตามจำนวนที่ดินทุกแปลง แปลงละ 600,000 บาท แก่โจทก์ภายใน 10 วันแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การที่จำเลยทั้งสองตกลงจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง ซึ่งต่อมาได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และการที่โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา ถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าซื้อที่ดินของจำเลยทั้งสองทั้ง 30 แปลง ให้แก่จำเลยทั้งสองครบถ้วนเต็มจำนวน 11,368,980 บาท แล้วจำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินของจำเลยทั้งสองทั้ง 30 แปลง ให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระจำนอง การเช่าภารจำยอม การรอนสิทธิ การรบกวนสิทธิ สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกินภาระผูกพันหรือภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันตกลงรับจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้โจทก์ได้รับซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองจนเต็มจำนวนตามสัญญานั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการหรือไม่ยอมดำเนินการจัดหาให้โจทก์ได้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำหนดเวลาตามสัญญาซึ่งโจทก์ได้บอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจัดการดังกล่าวแล้วนั้นด้วยจำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่สามารถจัดหาที่ดินให้แก่โจทก์ได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาในข้อตกลงส่วนนี้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์เฉพาะในส่วนที่เกินราคาค่าที่ดินของจำเลยทั้งสองแก่โจทก์จำนวน686,120 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะคืนเงินแก่โจทก์เสร็จ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับตามจำนวนแปลงที่ดินที่จำเลยทั้งสองยังไม่จัดหาให้แก่โจทก์แปลงละ 600,000 บาท จำนวน 38 แปลง รวมเป็นเบี้ยปรับจำนวน 22,800,000 บาท ซึ่งข้ออ้างของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับข้อเท็จจริงส่วนนี้ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองคงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าโจทก์เป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียว โดยอ้างเหตุต่าง ๆ มาในคำให้การ และว่าเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิปรับเอาแก่จำเลยทั้งสองจำนวน 22,800,000 บาท ดังนี้จะเห็นได้ว่า คดีตามคำฟ้องและคำให้การในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาคงมีประเด็นแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดิน 47 แปลง หรือไม่ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าใจตรงกันและรับกันแล้วว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง ให้โจทก์ และตกลงจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นมาให้โจทก์ได้ซื้ออีกรวม 47 แปลงตามแผนผังแนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.4 และเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาโดยให้จดทะเบียนโอนที่ดินที่จำเลยทั้งสองตกลงขายให้โจทก์จำนวน 30 แปลง และให้จัดหาที่ดินของบุคคลอื่นมาให้โจทก์ได้ซื้อให้ครบ 47 แปลง หากไม่ปฏิบัติตามกำหนดโจทก์จะฟ้องร้องบังคับคดี และบอกเลิกสัญญาในข้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้เบี้ยปรับในส่วนนี้ ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับการที่โจทก์ขอบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง และมิได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับการที่โจทก์บอกเลิกสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดหาที่ดินมาให้โจทก์ได้ซื้ออีกจำนวน 47 แปลง ตามสัญญา คดีจึงมีปัญหาที่พิพาทกันแต่เพียงในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดิน 47 แปลง เท่านั้น คดีไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาเดียวกันหรือแยกออกเป็นสองสัญญาโจทก์บอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาทั้งหมดอันเป็นผลให้โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือไม่ดังที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากที่เป็นประเด็นข้อพิพาทและขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสองยอมรับแล้ว ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาจัดหาที่ดินตามฟ้องและโจทก์ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน30 แปลง ตามสัญญาและเรียกเบี้ยปรับในส่วนที่จำเลยทั้งสองมิได้จัดหาที่ดินจำนวน 47 แปลง จากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ได้ซื้อครบถ้วนตามสัญญาโดยโจทก์ได้เลิกสัญญาในส่วนนี้แล้ว โจทก์จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลงตามที่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ และมอบเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินไว้แก่โจทก์แล้วได้ อย่างไรก็ตามโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินจำนวน 30 แปลง จากจำเลยทั้งสองและโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินตามที่ทำสัญญากันบางส่วนจำนวน 12,055,100 บาทแล้วและจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธ จึงต้องรับฟังตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ป.จ.18 สรุปผลการซื้อขายที่ดินหนองแซง ในข้อ 4 ระบุว่า โจทก์ได้ชำระค่าที่ดินไปแล้วเป็นเงิน 12,055,100 บาท ตรงกับจำนวนที่โจทก์อ้างในฟ้องและจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิเสธดังกล่าวข้างต้น โดยได้สรุปผลการซื้อขายที่ดินได้ความว่า จำเลยทั้งสองนำที่ดินมาเสนอขายจำนวนทั้งหมด46 แปลง โจทก์ยังไม่อาจตกลงรับซื้อที่ดินไว้ได้จำนวน 7 แปลงสามารถรับซื้อไว้ได้จำนวน 39 แปลง รวมเนื้อที่ 1,715 ไร่70 ตารางวา เป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน 30 แปลง เนื้อที่1,421 ไร่ 49 ตารางวา ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจัดหาจากบุคคลอื่น9 แปลง เป็นเนื้อที่ 294 ไร่ 21 ตารางวา ตรงกับที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังมา โดยจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาคัดค้าน ซึ่งเมื่อคำนวณราคาที่ดินที่ต้องชำระเบื้องต้นตามสัญญาข้อ 3 ไร่ละ 6,000 บาทสำหรับที่ดินพื้นที่สีแดง และไร่ละ 10,000 บาท สำหรับพื้นที่สีฟ้าแล้ว เงินค่าที่ดินจำนวน 12,055,100 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นส่วนที่ชำระสำหรับที่ดินจำนวน 30 แปลงของจำเลยทั้งสองเนื้อที่ 1,421 ไร่ 49 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงไร่ละ6,000 บาท เป็นเงิน 8,526,735 บาท ส่วนที่ชำระสำหรับที่ดินจำนวน 9 แปลง ที่จำเลยทั้งสองจัดหาจากบุคคลอื่น เนื้อที่ 294 ไร่21 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงไร่ละ 6,000 บาท เนื้อที่ 233 ไร่3 งาน เป็นเงิน 1,402,500 บาท เป็นพื้นที่สีฟ้าไร่ละ 10,000 บาทเนื้อที่ 60 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา เป็นเงิน 603,025 บาทรวมเป็นเงิน 2,005,525 บาท รวมเนื้อที่ 39 แปลง เป็นเงิน10,532,260 บาท ตรงตามที่คำนวณไว้ในสรุปผลการซื้อขายเอกสารหมาย ป.จ.18 เมื่อหักจากจำนวนเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวน 12,055,100 บาท แล้วคงเหลือเงินที่ชำระเกินไปตามสัญญาข้อ 3 อีก 1,522,840 บาท ที่ดิน 30 แปลงของจำเลยทั้งสองราคาเต็มที่ตกลงซื้อขายไร่ละ 8,000 บาท เป็นเงิน 11,368,980 บาท เมื่อชำระแล้ว 8,526,735 บาทคงเหลือที่ต้องชำระอีก 2,842,245 บาท เมื่อนำเงินคงเหลือที่ชำระเกินมาชำระเงินค่าที่ดินของจำเลยทั้งสอง 30 แปลง ดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยทั้งสองเป็นค่าที่ดินจำนวน30 แปลง อีก 1,319,405 บาท ดังนั้นโจทก์จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองจำนวน30 แปลง ให้แก่โจทก์ แต่ต้องชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสองอีก 1,319,405 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่อาจบังคับให้ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการที่สองว่าโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์เสียหายไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท จำเลยจึงต้องร่วมกันชดใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นเงินแปลงละ 600,000 บาทตามข้อตกลงแห่งสัญญาจะซื้อจะขายและจัดหาที่ดินเอกสารหมาย จ.3จำเลยทั้งสองจัดหาที่ดินให้โจทก์ขาดอยู่ 38 แปลง เป็นเบี้ยปรับรวม22,800,000 บาท นั้น พิเคราะห์แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนที่จำเลยทั้งสองตกลงจัดหาที่ดินของบุคคลอื่นมาให้โจทก์ได้ซื้อรวม 47 แปลง แต่ไม่สามารถจัดหาได้ครบและโจทก์ได้เลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการใช้สิทธิเลิกสัญญาของโจทก์ในส่วนนี้หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ ซึ่งตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและจัดหาที่ดินเอกสารหมาย จ.3ข้อ 5 ได้ตกลงให้ชำระเบี้ยปรับเป็นรายแปลง แปลงละ 600,000 บาท โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน”
จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายและจัดหาที่ดินเอกสารหมาย จ.3 เป็นจำนวนแปลงละ 600,000 บาท นั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ ซึ่งในการกำหนดเบี้ยปรับนี้โจทก์นำสืบว่า เบี้ยปรับตามสัญญาคิดคำนวณผลกำไรที่จะได้จากการประกอบกิจการเลี้ยงโคหรือถ้าขายที่ดินก็จะได้กำไรจากการขายที่ดินแล้วนำมาเฉลี่ยเป็นเบี้ยปรับจากที่ดินต่อแปลง แปลงละ 600,000 บาท สำหรับความเสียหายนั้นโจทก์นำสืบว่าถ้าจำเลยทั้งสองจะขายที่ดินมาให้โจทก์ครบจำนวนตามสัญญา โจทก์ก็จะได้ที่ดินแปลงใหญ่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน สามารถขายได้ในราคาสูงขึ้นประมาณไร่ละ 12,000 บาท เมื่อจำเลยยังจัดหาที่ดินให้แก่โจทก์ขาดอยู่อีก 38 แปลงเฉลี่ยเนื้อที่ดินแปลงละ 50 ไร่ โจทก์จึงขาดประโยชน์อันควรได้จากผลกำไรในการขายที่ดินไปเป็นเงิน 22,800,000 บาท และถ้าโจทก์สามารถประกอบกิจการเลี้ยงโคจำนวน 1,200 ตัว ตามที่สั่งซื้อไว้นั้นก็จะได้กำไรจากการขายโคตัวละ 15,000 บาท ซึ่งจะได้กำไรรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 18,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับความเสียหายจากการที่ต้องเสียเงินเช่าที่ดินทำคอกกักโคไปอีกปีละ 200,000 บาท ค่าลงทุนทำรั้ว ไถดิน ปลูกหญ้า สร้างโรงพยาบาลสัตว์ในที่ดินที่เช่าและต้องเสียค่าจ้างพนักงานรวมทั้งสิ้น 4,000,000 บาท และยังต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 14 ถึง 15 ต่อปี จากต้นเงินที่โจทก์นำมาชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง เป็นเงินอีก 3,000,000 บาท อีกทั้งโจทก์ได้สั่งซื้อโคจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ประมาณ 1,200 ตัว ราคาตัวละ 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณตัวละ 25,000 บาท แต่ได้ระงับการนำโคเข้าประเทศเนื่องจากไม่มีสถานที่เลี้ยง ทำให้ผู้ขายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน 600,000 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 15,000,000 บาท นั้น
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์นำสืบในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยปรับตามสัญญาที่คิดคำนวณจากผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการเลี้ยงโคหรือกำไรที่จะได้จากการขายที่ดินแล้วนำมาเฉลี่ยเป็นเบี้ยปรับนั้น โจทก์นำสืบโดยมีนายประวิทย์ ขาวหนู ทนายโจทก์นายชาญ วงศ์วิจิตร กรรมการบริษัทโจทก์และนายสิทธิชัย นวลมณีกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นพยานซึ่งล้วนแต่เป็นการเบิกความลอย ๆ และเป็นการคาดคะเนเท่านั้น สำหรับความเสียหายที่โจทก์นำสืบว่า หากจำเลยทั้งสองจัดหาที่ดินได้ครบจะทำให้ขายได้ในราคาสูงขึ้นประมาณไร่ละ 12,000 บาท นั้นก็เป็นการเบิกความลอย ๆและเป็นการคาดการณ์ของฝ่ายโจทก์เช่นกัน และที่โจทก์นำสืบว่าถ้าโจทก์สามารถประกอบกิจการเลี้ยงโคจำนวน 1,200 ตัว ตามที่สั่งซื้อไว้ก็จะได้กำไรตัวละ 15,000 บาท ซึ่งจะได้กำไรรวมทั้งสิ้นประมาณ 18,000,000 บาท ก็เป็นการคาดคะเนและเป็นค่าเสียหายที่ห่างไกลจากการผิดสัญญาของจำเลยทั้งสอง ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เสียหายจากการที่ต้องเสียเงินค่าเช่าที่ดินทำคอกกักโคไปปีละ 200,000 บาท ค่าลงทุนทำรั้ว ไถดิน ปลูกหญ้าสร้างโรงพยาบาลสัตว์ในที่ดินที่เช่าและต้องเสียค่าจ้างพนักงานในการจัดตั้งบริษัทขึ้นอีก 5 บริษัท เพื่อทำกิจการเกี่ยวกับโคนมรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,000,000 บาท ล้วนแต่เป็นความเสียหายที่ห่างไกลจากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาอีกเช่นกัน และที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 14 ถึง 15 ต่อปี จากต้นเงินที่โจทก์นำมาชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้น ก็มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับในฎีกาว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่สามารถจัดหาที่ดินมาให้แก่โจทก์ได้ครบถ้วนเต็มตามจำนวนภายในเวลาที่กำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นการคาดคะเนเอา จึงเห็นได้ว่าค่าเสียหายที่โจทก์นำสืบนั้นยังไม่แน่นอน และในการกำหนดเบี้ยปรับที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระในอัตราไร่ละ 600,000 บาท นั้น มิได้มีเกณฑ์แน่นอนหรือน่าเชื่อถือ แต่เป็นการคาดคะเน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ป.จ.6 (ศาลแพ่ง) เกี่ยวกับรายการที่ดินของบุคคลอื่นตามสัญญาจะซื้อจะขายและจัดหาที่ดินฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม 2532 ซึ่งระบุจำนวนที่ดิน 47 แปลง ที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดหามาให้เฉลี่ยเนื้อที่ดิน 19 แปลง ในจำนวน 38 แปลงซึ่งระบุเนื้อที่ไว้ ที่จำเลยทั้งสองยังมิได้จัดหามาให้โจทก์แล้วเป็นจำนวนเนื้อที่แปลงละ 34 ไร่ เมื่อคำนวณจำนวน 38 แปลง จะเป็นจำนวนเนื้อที่1,292 ไร่ ซึ่งหากโจทก์จะต้องชำระราคาที่ดินไร่ละ 8,000 บาทจะเป็นเงิน 10,336,000 บาท ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองมิได้จัดหาที่ดินจำนวน 38 แปลง ให้แก่โจทก์ตามสัญญาโจทก์ย่อมเสียหาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสองในจำนวน 38 แปลงในอัตราดังกล่าวแล้ว ประกอบกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าโจทก์ซื้อที่ดินแปลงอื่นในราคาไร่ละ 10,000 บาท ด้วยเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลงเหลือ 1,000,000 บาท นั้นเป็นจำนวนที่ต่ำเกินไป เห็นควรลดลงเหลือเพียงจำนวน1,500,000 บาท เมื่อนำเงินค่าปรับที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ ดังกล่าวมาหักออกจากเงินที่โจทก์ต้องชำระเป็นค่าที่ดิน30 แปลง ของจำเลยทั้งสองที่ขาดอีก 1,319,405 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ 180,595 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินของจำเลยทั้งสองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 (เอกสารหมาย จ.6)จำนวน 30 แปลง แก่โจทก์โดยปราศจากภาระจำนอง การเช่า ภารจำยอมการรอนสิทธิ สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ภาระผูกพัน และภาระติดพันใด ๆหากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 180,595 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2