คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายการกระทำของ จำเลยกับพวกว่าได้ใช้ไม้เป็นอาวุธทุบตีและใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหายที่อวัยวะสำคัญขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ทราบว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเป็นผลสืบเนื่องจากบาดแผลที่ถูกทำร้าย ซึ่งเป็นการกระทำเดียวกันกับคำฟ้องเพียงแต่แก้ไขผลของการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาเช่นนี้โจทก์ย่อมมีอำนาจขอแก้ฟ้องจากการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นฆ่าผู้เสียหาย และขอแก้บทลงโทษจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83,288 เป็นมาตรา 83,288,297 ได้ เพราะการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดไม่ว่าจะทำในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ในข้อหาที่มิได้กล่าวไว้นั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกพยายามฆ่านายณรงค์หรือช้าง ฉิมพลี ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 288, 83 จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายถึงแก่ความตายโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 13 มีนาคม 2539 ขอแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288, 297
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ฟ้อง ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2535 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันใช้ไม้ท่อนยาวประมาณ 1 เมตร เป็นอาวุธทุบตีและใช้กำลังชกต่อย พยายามฆ่านายณรงค์หรือช้าง ฉิมพลี หลายครั้งที่อวัยวะสำคัญโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 288 ขณะที่ฟ้องนั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตาย หลังจากสืบพยานโจทก์ไปหลายปาก โจทก์ทราบจากพยานที่มาเบิกความว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายแล้ว จึงยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2539 ขอแก้ฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกทำร้าย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163, 164 บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยกับพวกว่าได้ใช้ไม้เป็นอาวุธทุบตีและใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหายที่อวัยวะสำคัญขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ทราบว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น ต่อมมาเมื่อโจทก์ทราบว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเป็นผลสืบเนื่องจากบาดแผลที่ถูกทำร้าย ซึ่งเป็นการกระทำเดียวกันกับคำฟ้อง เพียงแต่แก้ไขผลของการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจขอแก้ฟ้องจากการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย เป็นฆ่าผู้เสียหาย และขอแก้บทลงโทษจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288 เป็นมาตรา 83, 288, 297 ได้ เพราะการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิด ไม่ว่าจะทำในระยะใด ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธตามบันทึกสอบสวนเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.10 คำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ในข้อหาที่มิได้กล่าวไว้นั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 13มีนาคม 2539 ได้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share