คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 834/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ท. ต่อมาได้โอนมาเป็นลูกจ้างของจำเลย ในครั้งแรกจำเลยใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จเดิมของบริษัท ท. ซึ่งในกรณีที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แต่ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จใหม่ ซึ่งตามข้อบังคับฉบับนี้โจทก์กลับมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเท่านั้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์จะนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนั้น แม้จำเลยจะได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามข้อบังคับ ฉบับที่ 32 แล้วก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลยอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยจำเลยมิได้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าการออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามผลของกฎหมายเพราะขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างและการพ้นจากการเป็นลูกจ้างเพราะเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้นถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนอกจากนี้จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยอีกขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าได้ความว่าเดิมโจทก์เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดเมื่อจำเลยถูกจัดตั้งขึ้นโจทก์ได้โอนมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดได้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานพ.ศ.2507 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยได้นำระเบียบดังกล่าวมาใช้ระหว่างที่จำเลยยังไม่มีระเบียบข้อบังคับฉบับที่ 32 ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จลงวันที่ 1 ตุลาคม 2525 กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานและลูกจ้างของจำเลยขึ้นใช้บังคับแต่คณะกรรมการลูกจ้างองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยคัดค้านไม่ยอมรับเพราะข้อบังคับฉบับนี้ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างเท่ากับระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานที่ใช้บังคับอยู่เดิมศาลฎีกาเห็นว่าระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จของพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดพ.ศ.2507 ที่จำเลยนำมาใช้ในระหว่างที่จำเลยยังไม่ออกข้อบังคับฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อจำเลยออกข้อบังคับฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จขึ้นมาใช้บังคับแตกต่างออกไปย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์พ.ศ.2507 ที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์เพราะตามระเบียบเดิมกรณีของโจทก์ที่ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานแต่ตามข้อบังคับฉบับที่ 32 โจทก์กลับมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเท่านั้นจึงนำมาใช้บังคับในกรณีของโจทก์ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 แม้จำเลยจะได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก
พิพากษายืน.

Share