คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8339/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กฎหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย และให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าไม่ประสงค์ให้ศาลฎีกาเข้าไปวินิจฉัยในเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับสมัครและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครจะต้องไปยื่นใบสมัครพร้อมหนังสือรับรองของห้วหน้าพรรคการเมืองต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้นด้วยตนเอง และตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 บัญญัติให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติของผู้สมัครและสอบสวนว่าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดการรับสมัคร ถ้าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งได้ก็ให้ประกาศการรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล…ฯลฯ ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศ มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สิทธิผู้สมัครผู้นั้นยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา จึงเห็นได้ว่าการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครคือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งซึ่งเป็นเพียงเจ้าพนักงานของคณะกรรมการเลือกตั้งเท่านั้น มาตรา 34 ดังกล่าวจึงให้สิทธิแก่ผู้สมัครที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้วินิจฉัยทบทวนการใช้ดุลพินิจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้อีกครั้งหนึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้อีกส่วนหนึ่งในข้อ 3 ส่วนที่ 5 มาตรา 35 ถึงมาตรา 37 ว่า พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อโดยมีหลักเกณฑ์ตามลำดับดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 (1) ถึง (3) ทั้งมาตรา 36 ยังบัญญัติต่อไปว่าให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง เห็นได้ว่าการรับสมัครแบบนี้เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรคการเมือง กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมาตรา 37 ยังบัญญัติอีกด้วยว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร จึงเป็นการตรวจสอบและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 145 (3) ซึ่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 37 ให้นำความแต่เฉพาะในมาตรา 32 เรื่องสถานที่ประกาศรายชื่อ และในมาตรา 33 เรื่องให้ค่าธรรมเนียมการรับสมัครรับเลือกตั้งตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น มิได้ให้นำมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าไม่ประสงค์ให้ศาลฎีกาเข้าไปวินิจฉัยในเรื่องที่คณะกรรมการเลือกตั้งได้วินิจฉัยมาแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามมาตรา 34 ดังที่ผู้ร้องอ้างได้
อนึ่งคดีนี้ผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้อง.

Share