คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่นายจ้างจัดห้องพักให้ลูกจ้างเข้าอยู่อาศัย เป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง อันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ว่า โจทก์ให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยในห้องพักคนงานโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องออกจากห้องที่อยู่อาศัยเมื่อโจทก์ต้องใช้สถานที่ และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ต้องการใช้ห้องที่ทำงานอยู่อาศัยเพื่อกิจการอื่น แต่จำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์จึงเลิกจ้างแล้วฟ้องขับไล่จำเลย จึงถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(1)อันอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำประเภทช่างไม้ของโจทก์โจทก์ให้สวัสดิการแก่จำเลยโดยให้พักอาศัยในห้องพักคนงานในบริเวณอู่ซ่อมเรือของโจทก์ มีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องออกจากห้องพักเมื่อโจทก์ต้องการใช้สถานที่ หรือจำเลยถูกปลดหรือลาออกจากงาน ต่อมาโจทก์ต้องการใช้ห้องพักที่จำเลยอยู่อาศัยเพื่อทำกิจการอื่นจำเลยไม่ยอมออก โจทก์เห็นว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายจึงเลิกจ้างโจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารและให้ใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะออกจากห้องพิพาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพราะเป็นคดีฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย จำเลยย้ายจากห้องของโจทก์แล้วมาปลูกสร้างห้องพิพาทขึ้นเองในที่ดินสาธารณะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านพักหรืออยู่ในที่ดินโจทก์หรือไม่ ค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใดโดยกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน
วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ได้กล่าวในฟ้องอ้างอิงถึงเหตุที่จำเลยเข้าอยู่อาศัยในห้องพิพาทเพราะโจทก์ให้สวัสดิการแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างได้เข้าพักอาศัยโดยไม่เสียค่าเช่า และจำเลยยอมตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขว่า หากโจทก์ต้องการใช้สถานที่แล้วจำเลยจะต้องออกไป ตามคำฟ้องเป็นเรื่องจำเลยละเมิดข้อตกลงในเรื่องสวัสดิการอันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่งจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8(1) อันอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพาาษาได้นั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้นิยามคำว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” ไว้ว่า “หมายความว่า” ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือระหว่างนายจ้าง หรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” และให้คำนิยามคำว่า “สภาพการจ้าง” ไว้ว่า”หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงานค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้าง หรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน” ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ เป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในห้องพักของโจทก์ตามที่จำเลยแจ้งความจำนงโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องออกไปเมื่อโจทก์ต้องการใช้ห้องพักนั้นเพื่อประโยชน์อื่นของโจทก์หรือจำเลยถูกปลดออกจากงาน หรือลาออกจากงานปรากฎตามข้อบังคับเกี่ยวกับการขอห้องพักของโจทก์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างให้สิทธิแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างได้เข้าพักอาศัยอยู่ในห้องพักซึ่งเป็นของนายจ้าง โดยมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการขอห้องพักของโจทก์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ย่อมเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยตามความหมายของคำนิยามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8(1)ที่ศษลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานคู่ความเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำราจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการต่อไปตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี”

Share