คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ส. เคยเป็นทนายความของจำเลยแต่ถูกถอนจากการแต่งตั้งแล้วเมื่อ ส. มาลงชื่อในอุทธรณ์โดยไม่ได้รับแต่งตั้ง ถือว่าเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ ส. เคยทำหน้าที่ทนายความแทนจำเลยการที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องอุทธรณ์จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้อง แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้แต่งตั้งนายสุนทร ประจำ เป็นทนายความให้ดำเนินคดีแทนจำเลย เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว นายสุนทรได้ยื่นคำให้การแก้คดี แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่5 กันยายน 2528 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนนายสนุทรออกจากการเป็นทนายความของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยขอในวันเดียวกัน และในวันเดียวกันนี้ จำเลยได้แต่งตั้งนายรักพงษ์ ธนสารกุล เป็นทนายความของจำเลยนายรักพงษ์ได้ดำเนินคดีแทนจำเลยต่อจากนายสุนทรตลอดมาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยอุทธรณ์ แต่จำเลยหรือนายรักษ์พงษ์ซึ่งมีสิทธิยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แทนจำเลยมิได้ลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ กลับปรากฏว่านายสุนทรทนายความซึ่งถูกถอนไปแล้วได้ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ ได้ความดังกล่าวมา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่ทนายความลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น ถือว่าเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย แต่แม้นายสุนทรถูกถอนออกจากการเป็นทนายความของจำเลยแล้ว นายสุนทรก็เคยทำหน้าที่ทนายความดำเนินคดีแทนจำเลย การที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งนายสุนทรผู้ลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีอำนาจนั้นเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขได้ตามที่เห็นสมควรคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้อง แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share