แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ไว้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินและทรัพย์สินของโจทก์ไป ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่1 เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ต่อสู้ว่าคดี ของโจทก์ขาดอายุความ จึงฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2521 ถึงเดือนกันยายน 2521 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายขายของโจทก์มีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้ายักยอกเงินของโจทก์หลายรายเป็นเงิน 30,000 บาท และในระหว่างวันดังกล่าวจำเลยที่ 1ได้เบียดบังเอาเครื่องปรับอากาศของโจทก์อีกคิดเป็นเงิน 85,295 บาท ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2521 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาไว้กับโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งสองจำนวนรวม 115,295 บาทเป็นงวด ๆ ให้โจทก์โดยออกเช็คไว้เป็นประกัน ถ้าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องได้ทันทีแต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินคนละ 25,000 บาท โดยจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินคนละ 25,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องจริง แต่ได้ชำระหนี้เป็นเช็คให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่นำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารเอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง ดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นโมฆะ คดีขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า ได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว หากจะต้องรับผิดอีกก็ไม่เกิน 6,224 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยตกลงว่าจะรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดโจทก์และทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามฟ้อง และให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกันรับผิดในวงเงินคนละ 25,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ยักยอกเงินและทรัพย์สินของโจทก์ไป ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ก็เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ และการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 มูลหนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เกิดจากสัญญา หาได้เกิดจากการละเมิดอันมีอายุความ 1 ปีไม่ เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความ ข้ออ่างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ