คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จากแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและคำเบิกความผู้เสียหายที่ว่าจุดที่คนร้ายเดินตามผู้เสียหายทันเป็นบริเวณเสาไฟฟ้าที่มีหลอดไฟฟ้า แต่ตามภาพถ่ายไม่ปรากฏว่าเสาไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวมีหลอดไฟฟ้าดังที่ผู้เสียหายเบิกความคงมีแต่ที่เสาไฟฟ้าซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่เกิดเหตุ บริเวณที่เกิดเหตุจึงมีแสงสว่างไม่มากนักทั้งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเห็นหน้าคนร้ายขณะผู้เสียหายหันหน้าไปพูดคุยกับคนร้ายเพียงไม่กี่ประโยคเท่านั้นแล้วคนร้ายก็เข้าล็อกคอผู้เสียหาย ระยะเวลาที่ผู้เสียหายเห็นหน้าคนร้ายจึงน้อยมาก ยิ่งกว่านั้นในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายได้ดูภาพถ่ายอาชญากรจากแฟ้มประวัติอาชญากรที่เจ้าพนักงานตำรวจนำไปให้ผู้เสียหายตรวจดูเพื่อหาคนร้ายที่ทำการชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย ดังนี้หากผู้เสียหายจำหน้าคนร้ายได้ ผู้เสียหายน่าจะชี้ภาพถ่ายของจำเลยที่มีอยู่ในแฟ้มประวัติอาชญากรแก่เจ้าพนักงานตำรวจในคืนเกิดเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์ของตนนั้นไม่ใช่เพราะจำหน้าคนร้ายได้หากแต่ผู้เสียหายเห็นว่าจำเลยไว้เล็บยาวกับผูกด้ายสีขาวที่ข้อมือเท่านั้น ส่วนที่ผู้เสียหายอ้างว่าจำลักษณะการมองและสายตาของคนร้ายได้ก็ไม่ปรากฏว่าลักษณะการมองและสายตา ของคนร้ายมีลักษณะพิเศษที่ทำให้ผู้เสียหายจำได้ ส่วนที่ ผู้เสียหายอ้างว่าจำลักษณะรูปพรรณคนร้ายได้นั้นที่ผู้เสียหายแจ้งความไว้ในคืนเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้แจ้งตำหนิรูปพรรณของคนร้ายไว้แต่อย่างใดโจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวคำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 4,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1394/2538และ 1611/2538 ของศาลชั้นต้นเพราะเป็นบุคคลคนเดียวกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม จำคุก 10 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 4,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง มีคนร้ายเป็นชายชิงเอาเงิน 4,000 บาท ของนางสาวอาภรณ์ ปิ่นทองพันธ์ผู้เสียหายไป โดยการชิงทรัพย์ดังกล่าว คนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการบีบคอ ชกต่อย และใช้ใบไม้อุดปากผู้เสียหายเป็นเหตุให้รับอันตรายแก่กายมีบาดแผลฉีกขาดภายในปาก ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยเป็นคนร้ายคดีนี้หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2538เวลาประมาณ 23 นาฬิกา ผู้เสียหายเดินเข้าไปในถนนสระเกษ ซอย 6เพื่อกลับห้องพักที่แววนภาอพาร์ตเมนต์ ระหว่างนั้นมีชายคนหนึ่งเดินตามหลังและตามผู้เสียหายทันก่อนจะถึงที่พักประมาณ 20 เมตรห่างเสาไฟฟ้าซึ่งมีหลอดไฟฟ้านีออนขนาด 40 แรงเทียน ส่องสว่างประมาณ 2 เมตร ผู้เสียหายจึงหันไปถามว่าอยู่แถวนี้หรือชายคนนั้นตอบว่าใช่พร้อมกับถามผู้เสียหายว่าอยู่ที่ไหนผู้เสียหายบอกว่าอยู่ที่หอพักซึ่งใกล้จะถึงแล้ว ทันใดนั้นชายดังกล่าวแสดงตัวเป็นคนร้ายเข้าล็อกคอและปิดปากผู้เสียหายไม่ให้ร้อง ผู้เสียหายดิ้นจนหลุดแล้วถีบเป้ากางเกงชายคนร้ายชายคนร้ายเข้าชกท้องกับบีบคอผู้เสียหาย จากนั้นลากผู้เสียหายไปใต้ต้นมะม่วงฝั่งตรงข้าม ชายคนร้ายเอาใบไม้และมือยัดเข้าไปในปากผู้เสียหาย ผู้เสียหายเจ็บปวดหายใจไม่ออกล้มตัวลงนอน ชายคนร้ายนั่งทับและบีบคอผู้เสียหาย ผู้เสียหายร้องขอชีวิต ชายคนร้ายดังกล่าวจึงปล่อยผู้เสียหายและถามหาเงินผู้เสียหายล้วงเงิน 4,000 บาท จากกระเป๋ากางเกงให้ไป ชายคนร้ายดังกล่าวขู่สำทับไม่ให้ผู้เสียหายร้องก่อนจะวิ่งหนีไปทางปากซอยเห็นว่า ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2จุดที่ชายคนร้ายเดินตามผู้เสียหายทัน และผู้เสียหายหันไปถามชายคนร้ายดังกล่าวว่าอยู่แถวนี้หรือก่อนที่ชายคนร้ายจะแสดงตัวเป็นคนร้ายนั้น ทั้งผู้เสียหายกับชายคนร้ายได้เดินผ่านจุดกากบาทสีน้ำเงินที่ผู้เสียหายเบิกความว่าเป็นเสาไฟฟ้า มีหลอดไฟฟ้านีออนขนาด 50 แรงเทียน ไป 2 เมตร แต่ตามภาพถ่ายหมาย ล.4 และ ล.5 ไม่ปรากฏว่าเสาไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวมีหลอดไฟฟ้าดังที่ผู้เสียหายเบิกความ คงมีแต่ที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 2 ซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกับต้นมะม่วงโดยเสาไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากที่เกิดเหตุ ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามภาพถ่ายหมาย ล.6 ปรากฏว่าที่เสาไฟฟ้ามีหลอดไฟฟ้านีออนก็เป็นบริเวณแววนภาอพาร์ตเมนต์ที่ผู้เสียหายพักซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 20 เมตร น่าเชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างไม่มากนัก ทั้งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายเห็นหน้าคนร้ายขณะผู้เสียหายหันหน้าไปพูดคุยกับคนร้ายเท่านั้น และตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของผู้เสียหายได้ความว่า ผู้เสียหายได้พูดคุยกับคนร้ายเพียงไม่กี่ประโยคคนร้ายก็เข้าล็อกคอผู้เสียหาย ระยะเวลาที่ผู้เสียหายเห็นหน้าคนร้ายจึงน้อยมาก ยิ่งกว่านั้นในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายได้ดูภาพถ่ายอาชญากรจากแฟ้มประวัติอาชญากรที่เจ้าพนักงานตำรวจนำไปให้ผู้เสียหายตรวจดูเพื่อหาคนร้ายที่ทำการชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่ไม่ปรากฏว่ามีภาพถ่ายคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งสิบตำรวจตรีสมพร จิตมาส พยานโจทก์ยืนยันว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยถูกจับกุมในข้อหาชิงทรัพย์ที่ถนนทะเลหลวงเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำประวัติอาชญากรและถ่ายภาพจำเลย และจำเลยนำสืบว่าคดีดังกล่าวจำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538ดังนี้ หากผู้เสียหายจำหน้าคนร้ายได้ ผู้เสียหายน่าจะชี้ภาพถ่ายของจำเลยที่มีอยู่ในแฟ้มประวัติอาชญากรแก่เจ้าพนักงานตำรวจในคืนเกิดเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2538ที่ผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยนั้นผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อมองสายตาจำเลยจำได้ว่าลักษณะการมองและสายตาของจำเลยเหมือนกับคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายนั่งตรึกตรองดูว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ระหว่างนั้นผู้เสียหายจำคำพูดของแพทย์ที่ตรวจบาดแผลของผู้เสียหายว่าคนร้ายต้องไว้เล็บยาว พยานจึงดูที่นิ้วมือของจำเลยปรากฏว่าจำเลยไว้เล็บยาวและผูกด้ายสีขาวที่ข้อมือตรงกับคนร้ายผูกด้ายสีขาวที่ข้อมือ เมื่อดูลักษณะรูปพรรณของจำเลยและลักษณะพิเศษแล้วมั่นใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่าที่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์ของตนนั้นไม่ใช่เพราะจำหน้าคนร้ายได้ หากแต่ผู้เสียหายเห็นว่าจำเลยไว้เล็บยาวกับผูกด้ายสีขาวที่ข้อมือเท่านั้น ส่วนที่ผู้เสียหายอ้างว่าจำลักษณะการมองและสายตาของคนร้ายได้ก็ไม่ปรากฏว่าลักษณะการมองและสายตาของคนร้ายมีลักษณะพิเศษที่ทำให้ผู้เสียหายจำได้ส่วนที่ผู้เสียหายอ้างว่าจำลักษณะรูปพรรณคนร้ายได้นั้น ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย จ.1 ที่ผู้เสียหายแจ้งความไว้ในคืนเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่า ผู้เสียหายได้แจ้งตำหนิรูปพรรณของคนร้ายไว้แต่อย่างใด โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว ซึ่งคำเบิกความของผู้เสียหายมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่มั่นคงพอฟังลงโทษจำเลยได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยต่อไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share