คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยเป็น 3 สำนวน โดยขอให้นับโทษจำเลยทุกสำนวนต่อกันก็ตาม แต่เมื่อศาลได้รวมพิจารณาคดีทั้ง 3 สำนวนเข้าด้วยกัน และปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดทั้ง 3 สำนวน ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามรายสำนวนได้ แต่ทั้งนี้โทษจำคุกทั้งสิ้นของจำเลยในคำพิพากษาฉบับเดียวกันนี้จะต้องไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2511)

ย่อยาว

คดี ๓ สำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนี สมคบกันปล้นทรัพย์ของผู้โดยสารรถประจำทางไป โดยใช้อาวุธปืนยิงขู่เข็ญพวกเจ้าทรัพย์ และยิงยางรถยนต์โดยสาร ขอให้ลงโทษตาม-ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐,๘๓ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก ๓ คนปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐,๘๓ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์
สำนวนที่สาม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก ๓ คน ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาจะฆ่า ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการที่จำเลยกับพวกจะกระทำการปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๒๘๙,๘๐,๘๓ ริบปืนของกลาง
ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกันทั้ง ๓ สำนวน และนับโทษนายอยู่จำเลยต่อจากคดีอาญาดำที่ ๓๓/๒๕๐๙ ด้วย
นายคานจำเลยให้การรับสารภาพทั้ง ๓ สำนวน นายอยู่จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ในสำนวนแรก จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔,๘๓ ให้จำคุกคนละ ๒๐ ปี ตามสำนวนที่สองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๒,๘๓ ให้จำคุกคนละ ๑๐ ปี ตามสำนวนที่สาม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๒๘๙ (๗),๘๓ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐,๕๒ ให้จำคุกคนละ ๑๖ ปี นายคานจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ ให้จำคุกนายคานจำเลย ๑๐ ปี ๕ ปี และ ๘ ปี ตามลำดับสำนวน นายอยู่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกนายอยู่จำเลย ๑๓ ปี ๔ เดือน,๖ ปี ๘ เดือน และ ๑๘ ปี ๘ เดือน ตามลำดับสำนวน ให้นับโทษนายคานจำเลยติดต่อกันจากสำนวนแรกเป็นต้นมา และให้นับโทษนายอยู่จำเลยในสำนวนแรกต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๔๒/๒๕๐๙ แล้วนับโทษในสำนวนที่สองที่สามต่อจากสำนวนแรกตามลำดับคดี คำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ โจทก์สืบไม่ได้ ให้ยกเสีย
นายอยู่จำเลยอุทธรณ์ทั้ง ๓ สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเชื่อว่านายอยู่จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจริงทั้ง ๓ สำนวน แต่การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้ง ๓ สำนวนทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ โทษจำคุกทั้งสิ้นของจำเลยแต่ละคนจะต้องไม่เกิน ๒๐ ปี จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ รวมทั้งที่เกี่ยวกับนายคานจำเลยซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย เป็นให้จำคุกจำเลยคนละ ๒๐ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยทั้งสองเป็น ๓ สำนวน โดยขอให้นับโทษจำเลยทุกสำนวนต่อกันก็ตาม แต่เมื่อศาลได้รวมพิจารณาคดีทั้ง ๓ สำนวนเข้าด้วยกัน และปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการอันเป็นความผิดทั้ง ๓ สำนวน ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามรายสำนวนได้ แต่ทั้งนี้โทษจำคุกทั้งสิ้นของจำเลยแต่ละคนในคำพิพากษาฉบับเดียวกันนั้น จะต้องไม่เกิน ๒๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share