แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การมีไว้เพื่อขาย ซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ สุราต่างประเทศที่มิได้ปิดแสตมป์สุราและสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีสรรพสามิต กับมีไพ่ไว้ในครอบครอง แม้จะยึดของกลางทั้งหมดได้ในคราวเดียวกัน แต่การกระทำผิดแต่ละข้อหาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่างพระราชบัญญัติโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม รวม 4 กระทงไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 33 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 162 และพระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ. 2486มาตรา 14 ทวิ กำหนดโทษปรับผู้กระทำผิดโดยมิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกันกระทำผิดหลายคนให้ปรับรวมกัน ศาลจึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตามรายตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ชิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศ ตรามาร์โบโร จำนวน 2,550 ซอง ตรา 55 จำนวน 200 ซอง โดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ คิดเป็นค่าแสตมป์ยาสูบที่จำเลยทั้งห้าจะต้องปิดทั้งหมดเป็นเงิน 59,675 บาท จำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งสุราต่างประเทศตราจอห์นนี่วอล์คเกอร์เรดเลเบิ้ล ขนาดบรรจุ 1 ลิตร 38 ขวดน้ำสุรา 38 ลิตร สุราต่างประเทศตราจอห์นนี่วอล์คเกอร์เรดเรเบิ้ลขนาดบรรจุ 2 ลิตร 2 ขวด น้ำสุรา 4 ลิตร สุราต่างประเทศตราจอห์นนี่วอล์คเกอร์แบล็คเลเบิ้ล ขนาดบรรจุ 1 ลิตร 6 ขวดน้ำสุรา 6 ลิตร ซึ่งมิได้ปิดแสตมป์สุราโดยจำเลยทั้งห้าหารู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา คิดเป็นค่าภาษีสุรา 2,064 บาทจำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไว้เพื่อขาย ซึ่งเบียร์ต่างประเทศตราบัดไวร์เซอร์ขนาดบรรจุกระป๋องรวมน้ำสุรา 15,840 ลิตรอันเป็นสุราแช่ประเภทเบียร์ซึ่งมิได้ปิดแสตมป์สุรา โดยจำเลยทั้งห้ารู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา คิดเป็นค่าภาษีสุรา 2,064 บาทจำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งน้ำผลไม้ทำนอกราชอาณาจักรจำนวน 780 กระป๋อง อันเป็นสินค้าซึ่งต้องเสียภาษีสรรพสามิตคิดเป็นภาษี 3,120 บาท โดยจำเลยทั้งห้ารู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมายและจำเลยทั้งห้าร่วมกันมีไพ่ไว้ในครอบครอง 60 สำรับ รวม3,240 ใบ ซึ่งเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบใบอันมิใช่ไพ่ที่กรมสรรพสามิตทำขึ้นและไม่มีตรากรมสรรพสามิตประทับอยู่รวมราคาไพ่ 5,700 บาท มีผู้แจ้งความนำเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งห้าได้ พร้อมด้วยบุหรี่ สุรา เบียร์ น้ำผลไม้ ไพ่จำนวนดังกล่าวและรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ร – 4896 กรุงเทพมหานครเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509มาตรา 4, 24, 40, 50 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4,33, 45 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 4,162, 168 พระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ. 2486 มาตรา 4, 8, 14 ทวิ,16 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 24 วรรคหนึ่ง, 40,50 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 33, 45 พระราชบัญญัติภาษีสรรพาสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 162, 168 พระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ. 2486 มาตรา 4, 8, 14 ทวิ, 16 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ ฐานมียาสูบไว้เพื่อขาย ปรับคนละ 895,125 บาท ฐานมีสุราต่างประเทศไว้เพื่อขาย ปรับคนละ 10,948.80 บาท ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้ามิได้เสียภาษี ปรับคนละ 15,600 บาทฐานมีไพ่ ปรับคนละ 22,800 บาทรวมสี่กระทง ปรับคนละ944,473.80 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 472,236.90 บาทในกรณีที่จำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 2 ปี ริบของกลางจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ข้อแรกว่า ความผิดตามฟ้องทั้งหมดเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า การมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ สุราต่างประเทศที่มิได้ปิดแสตมป์สุรา สินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีสรรพสามิต และมีไพ่ไว้ในครอบครอง แม้จะยึดของกลางทั้งหมดได้ในคราวเดียวกันแต่การกระทำผิดแต่ละข้อหาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่างพระราชบัญญัติ โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม รวม 4 กระทง ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ส่วนปัญหาตามฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลลงโทษปรับผู้กระทำผิดทั้งหมดเรียงตามรายตัวบุคคลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 พระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 33 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527มาตรา 162 และพระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ. 2486 มาตรา 14 ทวิกำหนดโทษปรับผู้กระทำผิดโดยมิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนให้ปรับรวมกัน จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตามรายตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตามรายตัวบุคคลชอบแล้ว
พิพากษายืน