คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8298/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สะพาน น.เป็นสะพานที่ก่อสร้างและเปิดใช้การมานานประมาณ 50 ปีแล้ว มีความชำรุดเสื่อมโทรมมากจนอาจจะเกิด อันตรายต่อบุคคลผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปผู้ใช้สัญจรไปมา การที่กรุงเทพมหานครจำเลยดำเนินการบูรณะ และซ่อมแซมสะพานดังกล่าวตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปให้ได้รับความปลอดภัย ถือได้ว่าการกระทำ ของจำเลยเป็นการบำรุงรักษาสะพานซึ่งเป็นทางสัญจรทางบกอันเป็นอำนาจและหน้าที่ของจำเลย ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89(6)บัญญัติไว้ แม้การก่อสร้างนั้นจะทำให้บันไดทางขึ้นลงสะพานต้องเปลี่ยนจากแนวเดิมเป็นแนวใหม่ทอดยาวไปตามถนนเกือบ สุดแนวตึกแถวหรือร้านค้าของโจทก์ และทำให้สะพานกับเสาสะพาน ปิดบังหน้าร้านค้าของโจทก์ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายบ้าง ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่มีกฎหมาย รับรองให้กระทำได้ จำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ กระทำต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวซึ่งอยู่ติดกับถนนจักรพงษ์ ตึกแถวของโจทก์นั้นโจทก์เปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ประมาณ20 ปีแล้ว ต่อมาปลายเดือนตุลาคม 2536 จำเลยได้ว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอี่ยมพงศ์สยามทำการซ่อมแซมสะพานนรรัตน์สถานและทำโครงสร้างใหม่แทนส่วนที่ชำรุดเสียหาย โดยรื้อบันไดทางขึ้นลงสะพานในส่วนที่อยู่หน้าตึกแถวของโจทก์แล้วทำบันไดทางขึ้นลงสะพานใหม่ ทำให้ปิดบังหน้าร้านของโจทก์เกือบทั้งหมดการกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินควรหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรและจำเลยสามารถก่อสร้างบันไดทางขึ้นลงสะพานดังกล่าวไม่ให้กีดขวางหรือปิดบังหน้าตึกแถวของโจทก์ได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ จำเลยกลับจงใจทำการก่อสร้างบันไดทางขึ้นสะพานให้ผิดไปจากรูปแบบเดิมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบันไดทางขึ้นลงสะพานนรรัตน์สถานทางด้านหน้าตึกแถวของโจทก์และก่อสร้างบันไดทางขึ้นลงใหม่ให้มีความกว้างยาว และส่วนสูงเท่าเดิม โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนและก่อสร้างเองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายก่อนฟ้องแก่โจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 7,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงซ่อมแซมสะพานในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์หากแต่ได้ทำการก่อสร้างซ่อมแซมสะพานนรรัตน์สถานโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6082 และ 6083 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงดังกล่าว ได้แก่ตึกแถวเลขที่ 370-372 ซึ่งโจทก์เปิดเป็นร้านจำหน่ายสินค้าจำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสินค้าเบ็ดเตล็ดใช้ชื่อร้านว่าเจริญรัตน์ ด้านหน้าร้านค้าของโจทก์อยู่ติดทางเท้าและบันไดทางขึ้นลงสะพานนรรัตน์สถาน ถนนจักรพงษ์ เนื่องจากสะพานนรรัตน์สถานที่จำเลยมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบอยู่เปิดใช้งานมานานประมาณ 50 ปีแล้ว สะพานดังกล่าวจึงมีความชำรุดทรุดโทรมมากอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปที่ใช้สัญจรไปมา จำเลยจึงได้ทำการบูรณะและซ่อมแซมใหม่โดยวิธีการก่อสร้างแบบพิเศษเพื่อมิให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรมากนัก การก่อสร้างแบบพิเศษที่ว่านี้ไม่ต้องปิดการจราจรที่ข้ามสะพานดังกล่าวในขณะกำลังก่อสร้างซึ่งมีช่องเดินรถอยู่จำนวน 4 ช่อง ทั้งหมด เพราะจะแบ่งการก่อสร้างเป็นคราวละด้านของสะพานสลับกันไป ในขณะที่กำลังก่อสร้างด้านใดก็จะปิดการจราจรเฉพาะด้านนั้นเพียง 2 ช่องเดินรถคงปล่อยให้อีก 2 ช่องเดินรถ ด้านที่ยังมิได้มีการก่อสร้างหรือก่อสร้างเสร็จแล้วเปิดการจราจรต่อไปได้ แต่การดำเนินการก่อสร้างแบบพิเศษจำเลยจะต้องสร้างเสาเข็มเจาะใต้สะพานเดิมเพื่อสร้างฐานราก สร้างเสาตอม่อและสร้างแนวคานรับสะพานมีการตอกเสาเข็มบริเวณเชิงลาดวางแนวคานรับสะพานสำเร็จรูปบนเชิงลาด รื้อสะพานเดิม วางคานสะพาน เทคอนกรีตทับหน้าปูผิวแอสฟัสต์ สร้างราวสะพานและบันไดทางขึ้นลงสะพานใหม่โดยบันไดทางขึ้นลงสะพานใหม่มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ทอดยาวไปตามแนวถนนผ่านหน้าตึกแถวของโจทก์ห่างหน้าตึกแถวของโจทก์ประมาณ 1.50 เมตร ในขณะที่จำเลยกำลังก่อสร้างเพื่อบูรณะและซ่อมแซมสะพานดังกล่าวโจทก์ได้ไปทักท้วงขอให้จำเลยก่อสร้างสะพานและก่อสร้างบันไดทางขึ้นลงสะพานในแนวเดิม เพราะหากก่อสร้างในแนวใหม่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่จำเลยมิได้ดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอ
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยมิได้ก่อสร้างบันไดทางขึ้นลงสะพานนรรัตน์สถานในแนวเดิม หากแต่ก่อสร้างในแนวใหม่เป็นเหตุให้บันไดทางขึ้นลงสะพานแนวใหม่ทอดยาวไปตามแนวถนนเกือบสุดแนวตึกแถวของโจทก์ทำให้สะพานและเสาสะพานดังกล่าวปิดบังหน้าตึกแถวหรือร้านค้าของโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การละเมิดนั้นผู้กระทำจะต้องจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัยเสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าสะพานนรรัตน์สถานอันเป็นสะพานที่ก่อสร้างและเปิดใช้การมานานประมาณ 50 ปีแล้ว มีความชำรุดเสื่อมโทรมมากจนอาจจะเกิดอันตรายต่อบุคคลผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปผู้ใช้สัญจรไปมา การที่จำเลยดำเนินการบูรณะและซ่อมแซมสะพานดังกล่าวให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปให้ได้รับความปลอดภัยถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการบำรุงรักษาสะพานซึ่งเป็นทางสัญจรทางบกอันเป็นอำนาจและหน้าที่ของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528มาตรา 89(6) บัญญัติไว้ เมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตราดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่บำรุงรักษาสะพานนรรัตน์สถาน การที่จำเลยดำเนินการก่อสร้าง เพื่อบูรณะและซ่อมแซมสะพานแห่งนั้น ตามหลักวิชาการดังที่จำเลยนำสืบ ทำให้สะพานดังกล่าวมีความแข็งแรง มั่นคงอันทำให้สาธารณชนผู้ใช้ยานพาหนะและสัญจรไปมาได้รับความปลอดภัยแม้การก่อสร้างนั้นจะทำให้บันไดทางขึ้นลงสะพานต้องเปลี่ยนจากแนวเดิมเป็นแนวใหม่ทอดยาวไปตามถนนเกือบสุดแนวตึกแถวหรือร้านค้าของโจทก์ และทำให้สะพานกับเสาสะพานปิดบังหน้าร้านค้าของโจทก์ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายบ้างก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่มีกฎหมายรับรองให้กระทำได้ดังกล่าวแล้วจำเลยจึงมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิด คำพิพากษาฎีกาที่ 931/2523 ระหว่างนางบุญยัง ขาวกัณหา โจทก์ กรุงเทพมหานคร กับพวกจำเลยที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน

Share