คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8294/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คชก.ตำบล ค.วินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าทำนาของจำเลยแต่ผู้เดียว ยังไม่ถึงที่สุด เพราะ คชก.จังหวัดยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์บุคคลอื่นที่อ้างว่าตนเป็นผู้เช่านาของจำเลยด้วย การที่ผู้ร้องสอดที่ 3 อาศัยสิทธิของ คชก.ตำบล ค.ที่ยังไม่ถึงที่สุดมาฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้ จึงเป็นการฟ้องโดยที่ผู้ร้องสอดที่ 3 ยังไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 มาตรา 58
แม้จำเลยเจ้าของที่ดินไม่ได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบก่อนว่าจะขายที่พิพาทเป็นการละเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524มาตรา 53 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยไม่อาจโอนที่ดินพิพาทได้เท่านั้น แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ใช่เป็นความผิดของโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 หรือผู้ร้องสอดที่ 1โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือผู้ร้องสอดที่ 1 ก็ยังมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อเรียกมัดจำคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอให้จำเลยคืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายด้วย แต่เมื่อศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นประเด็นข้อพิพาทสำคัญที่คู่ความจะต้องนำสืบให้ได้ความ และคดียังมีข้อโต้แย้งอีกมากซึ่งหากคู่ความยังติดใจในปัญหาเรื่องผิดสัญญาก็อาจนำคดีไปฟ้องร้องกันใหม่ได้ ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อเรียกมัดจำคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายได้ กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 1 กับที่ 3 อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
คดีนี้แม้ผู้ร้องสอดที่ 2 จะไม่ได้ฎีกา แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยจึงเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้ผู้ร้องสอดที่ 1 จะฎีกาฝ่ายเดียว ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลถึงผู้ร้องสอดที่ 2ด้วย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 และสำหรับคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งมิได้ยื่นฎีกายังไม่ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทำให้ผู้ร้องสอดที่ 1 มีสิทธิยื่นฎีกา แต่โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีประเด็นในคดีนี้แล้วว่าไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก

Share