คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค3เพียงแต่ลดโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสามลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษาแก้ไขเพียงเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยเกิน5ปีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงการที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาขอไม่ให้ลดโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค3ถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 288, 289, 91, 83,80, 33, 32, 271 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบไขควง อาวุธปืนลูกซองสั้นอาวุธปืนลูกซองยาว และปลอกกระสุนปืนของกลาง คืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ-7211 สุราษฎร์ธานี และทรัพย์ลำดับที่ 15, 16ตามบัญชีของกลางหมายเลข 7 ท้ายฟ้องแก่เจ้าของคืนทรัพย์ลำดับที่ 1, 5ถึง 14, 18 ตามบัญชีของกลางหมายเลข 7 ท้ายฟ้องแก่ผู้เสียหายและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 15 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 145,700 บาท ตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 8 ท้ายฟ้องแก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 391/2536 ของศาลชั้นต้น
ระหว่างพิจารณานายโสภณ พรหมแก้ว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7), 340 วรรคห้า, 340 ตรี,371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่นเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นบทเฉพาะวางโทษจำเลยทั้งสี่ให้ประหารชีวิตความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เพราะโจทก์มีประจักษ์พยานแน่ชัดน้ำหนักมั่นคง ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญประชาชนอย่างยิ่ง ไม่มีเหตุสมควรลดโทษ แต่เมื่อลงโทษจำเลยทั้งสี่ประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้อีกคงประหารชีวิตสถานเดียวริบไขควง อาวุธปืนลูกซองสั้น อาวุธปืนลูกซองยาวและปลอกกระสุนปืนของกลาง คืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ-7211 สุราษฎร์ธานีทรัพย์ลำดับที่ 15, 16 ตามบัญชีของกลางคดีอาญาหมายเลข 7ท้ายฟ้องแก่เจ้าของ คืนทรัพย์ลำดับที่ 1, 5 ถึง 14, 18 ตามบัญชีของกลางคดีอาญาหมายเลข 7 ท้ายฟ้องแก่ผู้เสียหาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 15 รายการ เป็นเงิน145,700 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนหมายเลข 8ท้ายฟ้องแก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ คงจำคุกกระทงละ 9 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไว้ตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และ จำเลย ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดตามที่ฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งแยกหน้าที่กันทำฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น แต่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 4 จะมีเจตนาร่วมกระทำความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ได้
ปัญหาที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาขอไม่ให้ลดโทษแก่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่ลดโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสามลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเพียงเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532มาตรา 11 ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอไม่ให้ลดโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอาวุธปืนลูกซองยาวของกลางตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.15ที่ศาลชั้นต้นสั่งริบตามคำขอของโจทก์นั้น ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีนพดล โชติรัตน์ พนักงานสอบสวนประกอบสำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเอกสารหมาย จ.47 แผ่นที่ 2 ว่า อาวุธปืนดังกล่าวเป็นของนายบุญสงพ่อตาของโจทก์ร่วมที่ถูกคนร้ายปล้นเอาไปแล้วนำไปทิ้งไว้ข้างทางระหว่างหลบหนี และจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจยึดกลับคืนมา ดังนี้ จึงริบไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานปล้นทรัพย์ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานปล้นทรัพย์จำคุกตลอดชีวิตฐานมีและพาอาวุธปืนจำคุกกระทงละ 9 เดือน รวมโทษทุกกระทงคงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต คืนอาวุธปืนลูกซองยาวตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.15 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share