คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำนิติกรรมอำพราง ขณะทำนิติกรรมคู่กรณีจะต้องมีเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งขึ้นมาอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง แต่ขณะจำเลยกู้ยืมเงินจาก จ. สามีโจทก์ โจทก์จำเลยยังไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทมาปิดบังอำพรางนิติกรรมที่จำเลยกู้ยืมเงินสามีโจทก์ สัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้อาศัยได้กระทำขึ้นภายหลัง ทั้งมิได้ทำขึ้นโดยบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเดียวกัน จึงไม่อยู่ในความหมายของนิติกรรมอำพราง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวจากวัดราชาธิวาสวิหารจำเลยขออาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท และสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ขนย้ายทรัพย์สินออกไป จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยผิดนัดไม่ยอมออกจากตึกแถวพิพาท โจทก์ให้ทนายความบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปเพิกเฉย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยกับนายวัชรพันธ์ กู้ยืมเงินจากนายจุนจำเลยชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน คงค้างชำระอยู่อีก 300,000 บาทจำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทแก่โจทก์ ซึ่งเป็นภรรยานายจุนโดยพฤตินัย และตกลงกันว่าหากจำเลยชำระหนี้แก่นายจุนแล้วนายจุนจะโอนสิทธิการเช่าคืนแก่จำเลยและตกลงให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท ถ้าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 5 ปีโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยแต่อย่างใด แต่ถ้าจำเลยชำระหนี้ไม่ทันตามกำหนดโจทก์คิดค่าตอบแทนการอยู่อาศัย 24,000 บาทต่อปีแทนดอกเบี้ยความจริงการที่จำเลยโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์และโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยอาศัย เป็นนิติกรรมอำพรางโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาบังคับกันตามสัญญาดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวพิพาทให้ชำระค่าเสียหายให้โจทก์นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2531จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากตึกแถวดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยกู้ยืมเงินจากนายจุนสามีโจทก์มาประกอบการค้าโดยมอบเช็คลงวันที่ล่วงหน้า รวมทั้งเช็คตามเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.15 แก่นายจุนเพื่อชำระหนี้เงินที่จำเลยกู้ยืมมา มิใช่เป็นการประกันหนี้ เมื่อจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเช็คเพราะยังไม่มีเงินในบัญชีนายจุนจึงให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทแก่โจทก์แทนและโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท จึงเป็นกรณีที่นายจุนยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ การทำนิติกรรมอำพรางนั้นขณะทำนิติกรรมคู่กรณีจะต้องมีเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งขึ้นมาอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง แต่คดีนี้ขณะจำเลยกู้ยืมเงินจากนายจุนสามีโจทก์ โจทก์จำเลยยังไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทมาปิดบังอำพรางนิติกรรมที่จำเลยกู้ยืมเงินสามีโจทก์ สัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้อาศัยได้ทำขึ้นภายหลัง และมิได้ทำขึ้นโดยบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเดียวกันจึงไม่อยู่ในความหมายของนิติกรรมอำพราง สัญญาให้อาศัยระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ไม่ยอมออกไปโดยโจทก์ไม่ยินยอม จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share