คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8281/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยสามประการ ประการแรกคือบังคับให้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ต้องชำระเงินตอบแทนแก่จำเลย ประการที่สองคือบังคับให้ใช้ค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยไม่สามารถโอนสิทธิในที่ดินพิพาทได้ และประการที่สามคือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกจากที่ดินพิพาท สำหรับสิทธิของโจทก์ในประการแรกและประการที่สองการบังคับคดีต้องเป็นไปตามลำดับเพราะมิใช่กรณีที่อาจเลือกการชำระหนี้ได้ เมื่อที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถใช้สิทธิบังคับในประการแรกคือให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ โจทก์ย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับในประการที่สองให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์เพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระค่าเสียหายจึงเป็นการไม่ชอบ
จำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องชำระเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันในลักษณะของสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้เมื่อโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนของตนเสียก่อน แล้วจึงขอให้ศาลบังคับคดีแก่จำเลยได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเลยเช่นนี้ จึงต้องถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนของตนและอาจใช้สิทธิขอให้บังคับคดีแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสัญญาต่อไป ยังไม่อาจถือว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ผิดนัดจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงกันว่า “… โจทก์ทั้งสองยินยอมจ่ายเงินจำนวน 35,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันทำสัญญาโอนสิทธิในที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญายอม เพื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง…” ต่อมาหลังจากพ้นกำหนด 6 เดือน ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามขอ หลังจากนั้นวันที่ 16 กันยายน 2542 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นที่ดินมี ส.ค. 1 ไปขอออกโฉนดที่ดิน ได้โฉนดที่ดินเลขที่ 14520 ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดให้โจทก์ทั้งสองบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนสิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย 35,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเลือกที่จะบังคับคดีโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนสิทธิในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองอีก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ทั้งสองมีสิทธิบังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่สามประการ ประการแรกคือบังคับให้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ทั้งสองต้องชำระเงินตอบแทน 35,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการที่สองคือบังคับให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 35,000 บาท ในกรณีที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถโอนสิทธิในที่ดินพิพาทได้ และประการที่สามคือให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกจากที่ดินพิพาท สำหรับสิทธิของโจทก์ทั้งสองในประการแรกและประการที่สองนั้น การบังคับคดีต้องเป็นไปตามลำดับเพราะมิใช่กรณีที่อาจเลือกการชำระหนี้ได้ เมื่อที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินแล้วเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 14520 มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองสามารถใช้สิทธิบังคับในประการแรกคือให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับในประการที่สอง คือให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 35,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ทั้งสองเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาชำระค่าเสียหายจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนการใช้สิทธิของโจทก์ทั้งสองในการบังคับคดีประการแรกนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองต้องชำระเงิน 35,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันในลักษณะของสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนของตนเสียก่อน แล้วจึงขอให้ศาลบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขอปฏิบิตการชำระหนี้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเลยเช่นนี้ จึงต้องถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนของตนและอาจใช้สิทธิ์ขอให้บังคับคดีแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสัญญาต่อไป ยังไม่อาจถือว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ว่าโจทก์ทั้งสองผิดนัดจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share