คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8273/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารต่างๆ ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินโดยให้เวลาแก่โจทก์ในการปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าวน้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันส่งหมาย มีผลเพียงว่าโจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดในหมายเรียกนั้น และจะถือว่าโจทก์มีความผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกไม่ได้เท่านั้น หาทำให้การออกหมายเรียก การตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปทั้งหมดไม่
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาทบทวนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากร แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งคือยกคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วประการหนึ่ง ปลดภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่มีภาษีต้องเสียประการหนึ่ง หรือให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในกรณีที่เห็นว่าการประเมินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอีกประการหนึ่ง ซึ่งกรณีหลังนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจแก้ไขโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ไปทีเดียว หรืออาจแก้ไขโดยให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ หาใช่ว่าจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ให้เสร็จเด็ดขาดไปสถานเดียวไม่ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ด้วยวิธีคำนวณหากำไรสุทธิ เพราะเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นการไม่ถูกต้องจึงเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำฟ้องโจทก์โต้เถียงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยตรงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะวินิจฉัยในประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งแรก เมื่อคำให้การจำเลยไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวข้อความนี้โดยชัดแจ้งในคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องปัญหานี้ได้
โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งแรกว่า เจ้าพนักงานของจำเลยยึดเอกสารและบัญชีไปจากโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ได้รับเอกสารและบัญชีคืนมาก็ได้รีบยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที จึงขอให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ยื่นแบบไม่ทันกำหนดเวลา แต่เมื่อมีการประเมินใหม่และโจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งหลัง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการหลังจากพ้นกำหนด จึงถือว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในครั้งหลังเป็นการวินิจฉัยซ้ำในประเด็นปัญหาเดียวกันกับที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในครั้งแรกไปแล้ว เมื่อประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วในการประเมินรายเดียวกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งแรกวินิจฉัยประเด็นปัญหาไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งหลังในส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่พิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 ซึ่งอยู่ในบังคับต้องจัดให้มีเหตุผลตามที่บัญญัติในมาตรา 37 วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณีตามมาตรา 37 วรรคสาม ปัญหาว่าคำสั่งทางปกครองฉบับใดได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี เมื่อคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายความข้อนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 10410020/2/100018 และ 100019 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-1/2546 และ สภ.10 (อด)/003.1-2/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 งดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่พิพาทในคดีนี้ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 หรือไม่ เห็นว่า แม้หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่พิพาทในคดีนี้จะเป็นคำสั่งทางปกครองตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินส่งหมายเรียกแก่โจทก์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 ให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารต่างๆ ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2540 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ให้เวลาแก่โจทก์ไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความดังที่โจทก์อุทธรณ์ ก็มีผลเพียงว่าโจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดในหมายเรียกนั้น และกรณีจะถือว่าโจทก์มีความผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกไม่ได้เท่านั้น หาทำให้การออกหมายเรียก การตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปทั้งหมดด้วยไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากรจะไม่มีบทบัญญัติว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินอย่างไร แต่การที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทำหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีที่อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 บัญญัติให้ผู้ต้องเสียภาษีอากรที่ถูกเจ้าพนักงานประเมินประเมินเรียกเก็บภาษีอากรประเมิน ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติเสียก่อน จึงจะฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรได้ ย่อมแสดงว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาทบทวนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากร แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง คือยกคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วประการหนึ่ง ปลดภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่มีภาษีต้องเสียประการหนึ่ง หรือให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในกรณีที่เห็นว่าการประเมินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่ง กรณีพิพาทตามฟ้อง นับเป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจแก้ไขโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มใหม่ไปทีเดียว หรืออาจแก้ไขโดยให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ตามหลักเกณฑ์วิธีการและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้สุดแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป หาใช่ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ให้เสร็จเด็ดขาดไปสถานเดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้นคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ อด/033.1/2545 ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 ที่วินิจฉัยชี้ขาดให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ด้วยวิธีคำนวณหากำไรสุทธิเพราะเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นการไม่ถูกต้อง จึงเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 10410020/2/100018 และ 100019 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งทำการประเมินโดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ อด/033.1/2545 ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 จึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-2/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 คำฟ้องโจทก์โต้เถียงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยตรงว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะวินิจฉัยในประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ อด/033.1/2545 ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 คำให้การจำเลยไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวความข้อนี้โดยชัดแจ้งในคำอุทธรณ์ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องปัญหานี้ ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่รับวินิจฉัยให้โจทก์เป็นการไม่ถูกต้อง…
โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งแรกว่า โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ยืนแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยได้ยึดเอกสารและบัญชีไปจากโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ภายในเดือนพฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อโจทก์ได้รับคืนเอกสารและบัญชีจากเจ้าพนักงานของจำเลยในเดือนสิงหาคม 2540 โจทก์ได้รีบยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ภายในเดือนพฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ เมื่อโจทก์ได้รับคืนเอกสารและบัญชีจากเจ้าพนักงานของจำเลยในเดือนสิงหาคม 2540 โจทก์ได้รีบยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ทันที คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ อด/033.1/2545 ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 ความว่า โจทก์ไม่มีเจตนายื่นแบบไม่ทันกำหนดเวลา แต่เอกสารอยู่ที่เจ้าพนักงานทำให้จัดทำบัญชีไม่ทันยื่นแบบแสดงรายการ คำวินิฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-2/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 วินิจฉัยความว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการหลังจากพ้นกำหนด จึงถือว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการในเวลาที่กฎหมายกำหนด เห็นว่า ในการอุทธรณ์การประเมินทั้งสองครั้ง โจทก์กล่าวในคำอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย เหตุที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยยึดเอกสารและบัญชีไปจากโจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำบัญชีเสร็จทันกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงขอให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-2/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ที่วินิจฉัยในประเด็นปัญหานี้ จึงเป็นการวินิจฉัยซ้ำในประเด็นปัญหาเดียวกันกับที่คำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ อด/033.1/2545 ลงวันที่ 19 กันยายน 2546 ได้มีคำวินิจฉัยไปแล้ว โดยที่เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติและผูกพันตามผลแห่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ส่วนผู้ต้องเสียภาษีหากมิได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรเพื่อขอให้ยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้ต้องเสียภาษีก็ต้องผูกพันและถูกบังคับตามผลแห่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเช่นเดียวกัน เมื่อประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วในการประเมินรายเดียวกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ อด/033.1/2545 ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 วินิจฉัยประเด็นปัญหานี้ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-2/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่า เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ก่อนที่อธิบดีกรมสรรพากรจะมีคำสั่งเกี่ยวกับหนังสือขอขยายระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 10410020/2/100018 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-1/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 เป็นว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 (ครึ่งปี) ให้โจทก์ชำระเงินได้นิติบุคคลจำนวน 30,943 บาท แก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 10410020/2/100019 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (อด)/003.1-2/2546 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 เป็นว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 (เต็มปี) โจทก์ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับจำนวน 1,219,272.51 บาท (แต่คงต้องชำระภาษีและเงินเพิ่มรวมเป็นจำนวน 613,642 บาท) นอกจากที่แก้และค่าฤชาธรรมเนียมในศาลภาษีอากรกลางให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นและค่าทนายความให้เป็นพับ.

Share