แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อความในหนังสือมอบอำนาจ ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนค่าปลงศพและค่าซ่อมรถจากกรณีรถชน แม้จะมีข้อความด้วยว่า ให้มีอำนาจเป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ถ้อยคำถอนคำร้องทุกข์ มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีและเข้าเป็นโจทก์ร่วมในชั้นศาล มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการรวมทั้งให้มีอำนาจดำเนินการไปในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความการสละสิทธิหรือการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาหรือในการขอ ให้พิจารณาคดีใหม่ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี มีสิทธิรับเงิน เอกสารหรือสิ่งของอื่น ๆ ไปจากศาลหรือเจ้าพนักงานศาล มีอำนาจแต่ตั้งทนายความและหรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นก็ตาม แต่การกระทำต่าง ๆเหล่านี้ก็เป็นการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการเรียกค่าสินไหมทดแทนค่าปลงศพ และค่าซ่อมรถจากกรณีรถชนและแม้จะมีข้อความให้ดำเนินการในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนอยู่ด้วยก็เป็นการกระทำในเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับกรณีรถชนดังกล่าวจึงเป็นมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมนตรี เมืองดี และมอบอำนาจให้นายธีรพันธุ์ จันทน์ดีฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81-8889 ชลบุรี จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่7 มีนาคม 2533 เวลา ประมาณ 22 นาฬิกา นายมนตรีได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ย-1172 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนรถรางเก่ามุ่งหน้าไปทางถนนสรรพาวุธครั้นนายมนตรีขับรถยนต์ถึงบริเวณหน้าบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด เป็นเวลาเดียวกับจำเลยที่ 3ขับชนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 มุ่งหน้าไปทางด้านคลองเตยในลักษณะแล่นสวนทางกับรถยนต์ที่นายมนตรีขับ ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 3ทำให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 3 ขับชนรถยนต์ที่นายมนตรีขับเสียหายและนายมนตรีถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 300,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน300,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดเป็นจำนวนเงิน120,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน270,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือมอบเอกสารหมาย จ.1ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียว การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ที่หนังสือมอบอำนาจเพียง 20 บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่บริบูรณ์ โจทก์จึงไม่สามารถอ้างหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานต่อศาลได้ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ พิเคราะห์แล้วข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายธีรพันธุ์ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนค่าปลงศพและค่าซ่อมรถจากกรณีรถชน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวในเรื่องที่รถยนต์ชนกันคดีนี้ แม้ในหนังสือมอบอำนาจจะมีข้อความตามแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจด้วยว่า และให้มีอำนาจเป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ถ้อยคำ ถอนคำร้องทุกข์ มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีและเข้าเป็นโจทก์ร่วมในชั้นศาล มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ รวมทั้งให้มีอำนาจดำเนินการไปในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความการสละสิทธิหรือการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาหรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีมีสิทธิรับเงิน เอกสารหรือสิ่งของอื่น ๆ ไปจากศาลหรือเจ้าพนักงานศาลมีอำนาจแต่งตั้งทนายความและหรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นก็ตามแต่การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าปลงศพ และค่าซ่อมรถจากกรณีรถชนและแม้จะมีข้อความตามแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนอยู่ด้วย ก็เป็นการกระทำในเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับกรณีรถชนดังกล่าว หาเป็นการกระทำในเรื่องอื่น ๆ ต่างหากไม่ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายลักษณะ 2 หมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรได้บัญญัติเกี่ยวกับค่าอากรแสตมป์ที่ต้องเสียไว้ในลักษณะแห่งตราสารข้อ 7 ว่า “ใบมอบอำนาจ ฯลฯ (ก) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท”หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ 20 บาทจึงเป็นการปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์แล้ว”
พิพากษายืน