คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826-830/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,83 ให้ลงโทษจำคุก 3 สำนวน สำนวนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 คงให้ลงโทษจำคุกสำนวนละ 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

คดีทั้ง 5 สำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน ทั้ง 5 สำนวนโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยทุจริต และได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจให้บุคคลอื่นมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่จำเลยทั้งสองโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 149, 157, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 5, 13

จำเลยทั้งสองทั้ง 5 สำนวนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 83 ประกอบกับมาตรา 91 ให้ลงโทษกระทงละ 5 ปี รวม 5 สำนวนเป็นจำคุกคนละ 25 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สำนวนที่ 2 ที่ 3 พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันในสารสำคัญแห่งคดี ทำให้ขาดน้ำหนักอันควรเชื่ออันเป็นเหตุแห่งความสงสัยส่วนสำนวนที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 จำเลยกระทำการเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่ 2 ที่ 3 ส่วนสำนวนที่ 1 ที่ 4ที่ 5 จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 4คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 3 สำนวนไว้สำนวนละ 5 ปีทั้งสองคน รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 15 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ในสำนวนที่ 2 ที่ 3 ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองในสำนวนที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ฎีกาข้อเท็จจริงขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีในสำนวนที่ 1, 4, 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 83 ให้ลงโทษจำคุกสำนวนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 3 สำนวนไว้สำนวนละ 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ในสำนวนที่ 2 ที่ 3 แล้ว

พิพากษายืน

Share