คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 46(2) นั้น มิได้หมายความแต่เพียงว่าห้ามมิให้ขับรถแซงหรือเริ่มขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางแยกเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงว่า แม้จะเริ่มขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นก่อนระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางแยก แต่เมื่อมาถึงระยะ 30 เมตรก่อนจะถึงทางแยกก็ยังไม่สามารถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นได้ ผู้ขับขี่ก็ต้องหยุดแซงและนำรถเข้าเส้นทางของตนทันที.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1ลูกจ้างขับรถยนต์ โดยประมาทในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 47,457 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าเหตุที่รถชนกันเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ให้ฝ่ายจำเลยผิด 2 ใน 3 ส่วน พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 26,876 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2524 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์รับจ้างรับส่งคนโดยสารจากจังหวัดเชียงใหม่มุ่งหน้าไปยังจังหวัดขอนแก่น เมื่อมาถึงท้องที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตามถนนสายสุโขทัย – พิษณุโลก จำเลยที่ 1 ขับขี่แซงเพื่อขึ้นหน้ารถบรรทุก 10 ล้อ ล้ำเข้าไปในเส้นทางเดินรถของรถที่แล่นสวนทางมา ในขณะเดียวกันกับที่โจทก์ขับขี่รถยนต์กระบะมาตามถนนที่ออกมาจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ป.ช.ส.) จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเข้าสู่ถนนสายสุโขทัย – พิษณุโลก อันเป็นทางสามแยกเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันและต่างได้รับความเสียหาย โดยจุดชนอยู่ตรงทางแยกห่างจากแนวขอบถนนด้านที่โจทก์ขับขี่รถออกมา1.20 เมตร ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่า ที่โจทก์ได้รับความเสียหายนั้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์โดยสารแซงเพื่อขึ้นหน้ารถบรรทุก 10 ล้อมาแต่ไกลก่อนระยะ 30 เมตร ที่จะถึงที่เกิดเหตุแล้ว แต่ไม่สามารถแซงได้ทันภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงที่เกิดเหตุ เนื่องจากเป็นถนนใหญ่ รถต่างก็แล่นด้วยความเร็ว แต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 46(2) ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางแยกนั้นมิได้หมายความแต่เพียงว่าห้ามมิให้ขับรถแซงหรือเริ่มขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางแยกเท่านั้นแต่หมายความรวมถึงว่า แม้จะเริ่มขับแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นก่อนระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางแยกก็ตาม แต่เมื่อมาถึงระยะ 30 เมตรก่อนจะถึงทางแยกก็ยังไม่สามารถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นได้ ผู้ขับขี่ก็ต้องหยุดแซงและนำรถเข้าลู่ในเส้นทางของตนทันที และที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกาว่า ถนนสายสุโขทัย – พิษณุโลก ในช่วงที่เกิดเหตุไม่มีเครื่องหมายห้ามแซง จำเลยที่ 1 ไม่อาจทราบได้ก่อนแซงว่าทางข้างหน้าในระยะไกลเช่นนั้นมีทางแยกอยู่หรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 เคยรับจ้างขับรถของจำเลยที่ 2 สายเชียงใหม่ – ขอนแก่นตอนแรกขับรถเบอร์ 11 ต่อมาขับรถเบอร์ 3 คือคันที่เกิดเหตุคดีนี้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว พอแปลได้ว่าจำเลยที่ 1ขับขี่รถในเส้นทางที่เกิดเหตุเป็นประจำ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1รู้ว่าตรงที่เกิดเหตุเป็นทางแยก นอกจากนั้นตามที่จำเลยที่ 1เบิกความว่าตามปกติตามสี่แยกห้ามแซง แต่ตามสามแยกแซงได้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธว่าตรงที่เกิดเหตุเป็นทางแยก หากแต่อ้างว่าแม้จะเป็นทางสามแยกก็แซงได้โดยไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น…”
พิพากษายืน.

Share