คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยกล่าวว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งเป็น ทรัพย์มรดกของ ย. และตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง คนละ 1 ใน 6ส่วนไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิชอบแม้คำขอท้ายฟ้องจะขอ ให้เพิกถอนการขายที่ดินแปลงดังกล่าวเอาที่ดินส่วนของ โจทก์ทั้งสองคืนมา ก็ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกมรดกจาก ผู้จัดการมรดกนั่นเอง เมื่อไม่อาจจะเพิกถอนการขาย เงินที่ได้ จากการขายที่ดินนั้นต้องถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้อง แบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองอยู่นั่นเอง ศาลย่อมมีอำนาจแบ่งเงิน ให้โจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายยม หลวงอี่ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1636/2534 เจ้ามรดกมีสิทธิครอบครองร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ในที่ดิน 2 แปลง แปลงแรกเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1472 คิดเป็นส่วนของเจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา แปลงที่สองเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญคิดเป็นส่วนของเจ้ามรดกกึ่งหนึ่งเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน นายยมมีทายาท 6 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1472 ให้แก่จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 รู้ว่าที่ดินนั้นเป็นทรัพย์มรดกของนายยมซึ่งจะตกทอดได้แก่ทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งสองรวมอยู่ด้วยทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายทีดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดก ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (ส.ส.3 ก.)เลขที่ 1472 และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยมแบ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายยมตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1472 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา และที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแก่โจทก์คนละ 1 งาน 66 ตารางวา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1472 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของนายยมซึ่งตกเป็นมรดกของโจทก์ทั้งสองจำนวน 2 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา และที่ดินแปลงไม่มีหนังสือสำคัญซึ่งใช้ปลูกบ้านพักอาศัยให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 งาน 66 ตารางวา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 และ 247 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองคือ ปัญหาแรกที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยมได้ขายที่ดินแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 1472 ในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายยมให้จำเลยที่ 2 โดยชอบ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 น่าจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินจากการขายที่ดินแปลงดังกล่าวในส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ผู้อื่นแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยกล่าวว่าจำเลยที่ 1นำที่ดินแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 1472 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายยมและตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง คนละ 1 ใน 6 ส่วนไปขายโดยมิชอบ แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้เพิกถอนการขายที่ดินแปลงดังกล่าวเอาที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสองคืนมา ก็ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกนั่นเอง เมื่อไม่อาจเพิกถอนการขายที่ดินแปลงดังกล่าว เงินที่ได้จากการขายที่ดินนั้นต้องถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองอยู่นั่นเองศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจแบ่งให้โจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) จึงมีปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกคนละจำนวนเท่าใด คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 156,375 บาท แล้วจำเลยที่ 1นำไปชำระหนี้จำนองของนายยมเจ้ามรดกบางส่วน แต่ชั้นสืบพยานจำเลยทั้งสองนำสืบว่า ซื้อขายที่ดินทั้งแปลงเป็นเงิน 156,000 บาทเศษโดยโจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบปฏิเสธ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3ก็วินิจฉัยว่า เงินที่ได้จากการขายที่ดินเป็นมรดกของนายยมกึ่งหนึ่ง โจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้ง แต่กลับฎีกาขอให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เงินจำนวน156,375 บาท แต่เนื่องจากที่ดินเป็นของนายยมเจ้ามรดกและจำเลยที่ 1 ร่วมกัน เงินที่ได้จากการขายที่ดินจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายยมกึ่งหนึ่ง คือ 78,187.50 บาท นอกจากนี้ยังได้ความตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 และนายยมเจ้ามรดกได้ร่วมกันจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ไว้กับสหกรณ์การเกษตรโพธาราม และได้ชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์เพื่อไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 43,610 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 ดังนั้นจำนวนหนี้ที่กองมรดกของนายยมต้องรับผิดต่อสหกรณ์ คือ กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 21,805 บาท เมื่อนำไปหักจากเงินที่ขายทรัพย์มรดกแล้วจะเหลือจำนวน 57,382.50 บาท ยิ่งกว่านั้น ข้อเท็จจริงยังได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่านายยมเจ้ามรดกเป็นลูกหนี้ผู้อื่นอีกหลายราย คือเป็นหนี้นางเปี๊ยกกับนางไน้รายละ10,000 บาท นางเสงี่ยมและนางปราณีรายละ 5,000 บาทหนี้โรงพยาบาลอีก 5,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้นำเงินจากการขายทรัพย์มรดกไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้จำนวนเหล่านี้โจทก์ทั้งสองก็มิได้ฎีกาโต้แย้ง แต่กลับยอมรับในฎีกาว่าเป็นจริงดังนั้น เมื่อนำหนี้จำนวนดังกล่าวไปหักจากเงินที่ขายทรัพย์มรดกแล้วจะเหลือเงินจำนวน 22,382.50 บาท ทายาทมีสิทธิได้รับมรดกมี 6 คนจะได้คนละ 1 ใน 6 ส่วน โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินคนละ 1 ใน 6 ส่วน ของจำนวนเงิน 22,382.50 บาทคิดเป็นเงินคนละ 3,730.42 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินให้โจทก์ทั้งสองนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในปัญหานี้ฟังขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงที่ไม่มีหนังสือสำคัญอันเป็นทรัพย์มรดกของนายยมโดยไม่ชอบนั้นเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงไม่มีหนังสือสำคัญให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 งาน 66 ตารางวาคู่ความทุกฝ่ายต่างไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ถือได้ว่าคดีในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงไม่มีหนังสือสำคัญยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในปัญหานี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงไม่มีหนังสือสำคัญให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 งาน 66 ตารางวา และแบ่งเงินให้โจทก์คนละ 3,730.42 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share