คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาแบ่งที่ดินมรดกโดยจำเลยยอมแบ่งให้ โจทก์เพื่อไม่ต้องเป็นความกัน ดังนี้ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ใช่สัญญายกให้โดยเสน่หา
ข้อความในสัญญามีว่าโจทก์จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของที่ดินที่ได้รับให้แก่บุตรโจทก์ด้วยแล้วลงลายมือชื่อโจทก์ จำเลย พยานและผู้เขียน แต่โจทก์จำเลยยังตกลงกันอีกด้วยว่า บุตรของโจทก์จะต้องเสียเงิน 2,000 บาทให้แก่จำเลย จำเลยจึงจะโอนที่ดินให้และบอกให้ผู้เขียนสัญญาเขียนข้อตกลงนี้ลงในสัญญาในขณะนั้นเองผู้เขียนจึงเขียนข้อตกลงนี้ไว้ใต้ลายมือชื่อที่ได้ลงกันไว้นั้น แล้วผู้เขียนลงลายมือชื่อกำกับข้อความตอนท้ายนี้ไว้คนเดียว ดังนี้ ก็ต้องถือว่าข้อความตอนท้ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญานี้มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนด้วย ตราบใดที่ฝ่ายโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ โดยให้เงินแก่จำเลย 2,000 บาท โจทก์ก็จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ยังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรของนายโดบนางโหนดซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วทรัพย์มรดกเฉพาะที่บ้านและที่สวน ๑ แปลงนั้นโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยแบ่งด้านใต้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ต่อมาจำเลยไม่ยอมโอนให้ จึงฟ้องขอให้แบ่งที่ดินให้ และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า นางโหนดยกที่พิพาทให้จำเลยคนเดียว จำเลยไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ แต่ตกลงแบ่งสวนพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งให้แก่บุตรโจทก์โดยเสน่หา เมื่อจำเลยร้องขอแบ่งที่พิพาทให้โจทก์และบุตรโจทก์ต่ออำเภอ โจทก์คัดค้านจำเลยจึงบอกเลิกการให้ หากโจทก์ทำสัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องก็หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ ทั้งเป็นสัญญามีเงื่อนไขว่าบุตรโจทก์ต้องจ่ายเงินให้จำเลย ๒,๐๐๐ บาทก่อน เมื่อยังไม่จ่ายเงิน จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ทางด้านใต้กว้าง ๑ เส้นส่วนค่าเสียหายนั้นเห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่นกัน จึงไม่อาจเรียกได้ ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า สัญญาหมาย จ.๑ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นมรดกหรือไม่ เงื่อนไขที่ระบุไว้ตอนท้ายสัญญาที่ว่า บุตรโจทก์ต้องจ่ายเงินให้จำเลย ๒,๐๐๐ บาทก่อนนั้น ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เพราะโจทก์จำเลยไม่ได้ลงชื่อรับรองไว้ จึงใช้บังคับหาได้ไม่ จำเลยต้องแบ่งที่พิพาทด้านใต้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่เพียง ๑ เส้นหรือ ๑ ใน ๔ ส่วน พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านใต้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
(๑) ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาหมาย จ.๑ เป็นสัญญายกที่ดินให้โดยเสน่หาเป็นสัญญาฝ่ายเดียว จำเลยบอกเลิกแล้วย่อมไม่มีผลบังคับนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาแบ่งมรดกตามเอกสาร จ.๑ ไว้จริง ที่จำเลยยอมแบ่งที่ดินให้โจทก์นั้นเพื่อตัดปัญหายุ่งยากไม่ต้องเป็นความกัน เห็นได้ว่า โจทก์จำเลยผู้เป็นคู่สัญญาระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่สัญญายกให้โดยเสน่หา
(๒) ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาหมาย จ.๑ มีเงื่อนไขกำหนดให้โจทก์หรือบุตรโจทก์จ่ายเงินให้จำเลย ๒,๐๐๐ บาทก่อนแล้วจำเลยจึงจะมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อฝ่ายโจทก์ไม่จ่ายเงินจำเลยก็ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นสัญญาหมาย จ.๑ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๐๘ มีความว่า นายแอ สรรพกิจผล กับนายเหม สรรพกิจผล ได้ตกลงจะแบ่งที่ดินหมายเลข ๑๘๐๕ เล่มที่ ๑๙ ซึ่งเป็นที่บ้านเป็นมรดกของพ่อแม่โดยนายแอจะแบ่งให้กับนายเหมตามส่วนและข้อตกลงกัน เมื่อโอนให้นายเหมแล้ว นายเหมจะต้องแบ่งให้กับลูกของนายเหมครึ่งหนึ่งในที่ดินที่ได้รับ (แล้วระบุชื่อลูกของนายเหม ๔ คน) ทั้งสองคนได้ตกลงกันจะโอนที่ดินแปลงนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่ ๑๗ มกราคม ๒๕๐๘ เป็นต้นไปสัญญานี้ทำขึ้น ๒ ฉบับ มีข้อความตรงกันต่อจากนั้นเป็นลายมือชื่อของจำเลย โจทก์ พยาน และ ร.อ.เจริญ ต่อจากลายมือชื่อมีข้อความอีกว่า”ป.ล. ลูกของนายเหมทั้ง ๔ คนนี้ต้องเสียเงินให้กับนายแอเป็นจำนวนเงินสองพันบาท จึงจะโอนให้ตามกำหนดดังกล่าวแล้วข้างบน” และมีลายมือชื่อ ร.อ.เจริญ ลงไว้คนเดียว ดังนี้ เห็นได้ว่าการที่จำเลยจะโอนที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญานั้น มีข้อตกลงอยู่ว่าโจทก์จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของที่ดินที่ได้รับให้แก่บุตรของโจทก์ด้วย ซึ่งบุตรของโจทก์ต้องให้เงินจำเลยสองพันบาทแล้วจำเลยจึงจะโอนให้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเงื่อนไขที่ระบุไว้ท้ายสัญญาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความ จะใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ เพราะโจทก์จำเลยไม่ได้ลงชื่อรับรองไว้ มีแต่ชื่อร้อยเอกเจริญผู้เขียนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อตกลงตอนท้ายสัญญานี้โจทก์จำเลยพูดจาตกลงกันเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วทั้งสองฝ่ายจึงบอกให้ร้อยเอกเจริญเขียนข้อตกลงดังกล่าวลงไปในขณะนั้นเอง และได้เขียนสัญญาขึ้นเป็นคู่ฉบับให้โจทก์จำเลยยึดถือไว้คนละฉบับ ดังนี้ จึงต้องถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย และสัญญานี้เป็นสัญญาก่อให้เกิดหนี้โดยมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนด้วย ฉะนั้น ตราบใดที่ฝ่ายโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามข้อสัญญาโดยเสียเงินให้จำเลย ๒,๐๐๐ บาทแล้ว โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระหนี้โดยโอนที่พิพาทให้โจทก์หาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share