คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบัญญัติกฎหมายให้ทรัพย์สินของสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันนั้น ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่สถานศึกษานั้นอันจะเป็นผลให้ไม่เสมอกันในกฎหมาย หรือทำให้เกิดเอกสิทธิขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินโจทก์มีกำหนด ๑ ปี ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ทรัพย์สินของโจทก์ภายในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเป็นทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ในการสร้างสถานศึกษาตามความในพระราชบัญญติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๕ ทวิ ที่ดินที่จำเลยเช่าอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกานี้ จึงขอให้บังคับขับไล่จำเลย
จำเลยให้การว่า ได้เช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัย พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๗ และมาตรา ๕ ทวิ ให้โจทก์มีเอกสิทธิเหนือบุคคลอื่นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๑๑๓ ใช้บังคับไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ บัญญัติความเพิ่มเป็นมาตรา ๕ ทิว นั้น มิได้ยกเว้นแก่ทรัพย์สินของบุคคลทั่วไป เป็นการให้สิทธิพิเศษ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะ
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๔ บัญญัติให้จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกาษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ระบุไว้เป็นสาธารณประโยชน์แก่ปวงชนเป็นส่วนรวม หาใช่ให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ฉะนั้น การที่พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ บัญญัติเพิ่มมาตรา ๕ ทวิขึ้น ให้ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่จะใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างสถานศึกษาให้กับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาของชาติ ฯลฯ ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน โดยวิธีประกาศพระราชกฤษฎีการะบุทรัพย์สินดังกล่าวนั้น จึงไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลบางคน อันจะเป็นผลให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย หรือทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดขึ้น โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมาแต่อย่างใด พิพากษายืน.

Share