แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจของ ก. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และเมื่อ ธ. ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจช่วงให้ จ. ฟ้องคดีแล้ว ย่อมเป็นการอยู่ในขอบเขตตามหนังสือมอบอำนาจของ ก. แต่ส่วนที่ จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจะมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปในการฟ้องคดีนี้อีกต่อหนึ่งย่อมอยู่นอกเขตแห่งหนังสือมอบอำนาจของ ก. ดังนั้น ส. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก จ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ย่อมไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ ๒ จะฟ้องแย้งได้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงิน 164,311.60 บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 742,684.77 บาทและให้จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 109,541.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าชำระหนี้เสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินจำนวน 827,410.08 บาท แก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัด
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานภาค 4 อนุญาตและจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 208,250 บาท และจำนวน 534,433.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนวนแรกพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เพียงใด ก็ให้สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นลดลงเพียงนั้น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานว่า คดีนี้ศาลแรงงานภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นพนักงานของโจทก์ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขากาฬสินธุ์ นายกรพจน์มอบอำนาจให้นายธีระฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 นายธีระมอบอำนาจช่วงให้นางใจรักษ์ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 4 หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 ล้วนระบุถึงอำนาจของผู้รับมอบอำนาจไว้ว่าสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ จึงถือว่าการมอบอำนาจของโจทก์ในแต่ละช่วงได้กระทำโดยชอบแล้ว ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4347/2544 ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 2,173,193.39 บาท คืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันชำระหนี้จำนวนดังกล่าวตามคำพิพากษาในส่วนคดีอาญาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุดแล้ว และจำเลยที่ 1 ทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 164,311.60 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ 86/2537 เรื่อง ตำแหน่งและหน้าที่ของพนักงานฯ ข้อ 5 (5.1) (1) (2) คำสั่งที่ 71/2538 เรื่อง การให้สินเชื่อสวัสดิการระบบงานคอมพิวเตอร์ ข้อ 2 (16.8) (1) (2) และคำสั่งที่ 98/2539 เรื่องการปฏิบัติงานสินเชื่อระบบ GSB ข้อ 1 (1.1) ประกอบคู่มือระบบงานสินเชื่อ GSB loan ข้อ 4 (4.7) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์ก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับเป็นเงิน 987,519.56 บาท และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ภายหลังพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับเป็นเงิน 534,433.87 บาท โจทก์นำเงินบำนาญของจำเลยที่ 2 จำนวน 779,268.66 บาท หักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับ เมื่อเงินบำนาญของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์นำมาหักชำระหนี้ร่วมมีมากกว่าจำนวนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องอีก
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า นายสุทธิชาติมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจของนายกรพจน์ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายธีระฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และเมื่อนายธีระผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจช่วงให้นางใจรักษ์ฟ้องคดีแล้ว ย่อมเป็นการอยู่ในขอบเขตตามหนังสือมอบอำนาจของนายกรพจน์ แต่ส่วนที่นางใจรักษ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจะมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปในการฟ้องคดีนี้อีกต่อหนึ่งย่อมอยู่นอกเขตแห่งหนังสือมอบอำนาจของนายกรพจน์ ดังนั้น นายสุทธิชาติผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนางใจรักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ย่อมไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 2 จะฟ้องแย้งได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4