แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับแจ้งข้อหาจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร คำให้การรับสารภาพของจำเลยตลอดข้อหา ในบันทึกการจับกุมโดยไม่ระบุว่ารับสารภาพฐานใดนั้น เมื่อจำเลยปฏิเสธในชั้นศาลว่าไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม จึงใช้ยันจำเลยไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 335(1)(3)(4)(7)(8), 336 ทวิ, 357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 13 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน เป็นเงินจำนวน 6,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และจำนวน25,200 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จำคุก3 ปีส่วนจำเลยที่ 3 ทรัพย์ที่รับของโจรมีราคาเล็กน้อย ให้จำคุก 1 ปี6 เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ ส่วนเงินจำนวน 65,000 บาท (ที่ถูกเป็น 6,500 บาท)และทรัพย์จำนวน 25,200 บาท ที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 นั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับมาในการกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ และยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ จากพยานหลักฐานและจำเลยที่ 3 นำสืบมาข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้รับจำนำแหวนทองเคหัวเพชรปลอมซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกคนร้ายลักเอาไปไว้จากนายอนุชา ส่งละออ จริง คงมีปัญหาว่าจำเลยที่ 3 รู้หรือไม่ว่าแหวนทองเคหัวเพชรปลอมที่รับจำนำไว้เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า โจทก์มีเพียงสิบตำรวจโทเทอดทูลแย้มบู่ และร้อยตำรวจโทสมปอง บุญรัตน์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่าเมื่อนายอนุชารับว่าได้นำแหวนทองเคหัวเพชรปลอมไปจำนำไว้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 500 บาทจึงไปตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 3 พบแหวนดังกล่าวอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของจำเลยที่ 3 และในวันนั้นนายดาบตำรวจนวลบิดาของนายอนุชาก็ได้ขอไถ่แหวนจากจำเลยที่ 3 ในราคา 500 บาท ซึ่งตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองนี้มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3รับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิด ทั้งเมื่อพิจารณาเหตุผลกรณีแวดล้อมและพิรุธแห่งการกระทำเพื่อชี้เจตนาของจำเลยที่ 3 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้นำแหวนดังกล่าวไปซ่อนเร้นหรือจำหน่ายไปแต่อย่างใด คงเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ของตนและวางไว้ในบ้านโดยเปิดเผย และราคารับจำนำก็สูงกว่าปกติเมื่อเปรียบเทียบกับราคาแหวน จึงไม่เป็นข้อพิรุธแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 รับทรัพย์ของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่นายอนุชาได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ แม้พยานโจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.7 แต่บันทึกดังกล่าวลงว่า จำเลยที่ 3 รับสารภาพตลอดข้อหาลอย ๆ ไม่ระบุว่ารับสารภาพฐานใด ทั้งที่ร้อยตำรวจโทสมปองได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 3 ว่า กระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรจึงชวนให้สงสัย เมื่อจำเลยที่ 3 ปฏิเสธในชั้นศาลว่ามิได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเลย คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมจึงใช้ยันจำเลยไม่ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดฐานรับของโจร…”
พิพากษายืน.