คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ยอดขายสุทธิหลังหักภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายตามระเบียบของจำเลยมีจำนวน 30,404,989.78 บาท เป็นยอดขายสุทธิตามความเป็นจริง แม้โจทก์จะฟ้องคดีโดยระบุว่ายอดขายสุทธิเป็นเงิน 26,377,579.20 บาท ก็เห็นได้ว่าเป็นการคิดคำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่เป็นไปตามระเบียบของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับค่าคอมมิชชันน้อยลง การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจเห็นสมควรให้นำยอดขายสุทธิตามความเป็นจริงมาเป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ย่อมเป็นการใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงมิได้ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าคอมมิชชัน 1,666,721.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานทุกประเภท แบ่งแผนกขายเป็น 3 แผนก แผนกหนึ่งคือแผนกแบ้งค์กิ้งซึ่งเป็นแผนกขายสินค้าให้แก่ธนาคาร จำเลยมีพนักงานอยู่ 2 แผนก คือแผนกขายตรงกับแผนกขายส่งผ่านเอเย่นต์ และจำเลยจ่ายค่าคอมมิชชันให้แก่พนักงานขายตรง โดยขณะเกิดเหตุการจ่ายค่าคอมมิชชันและการคิดคำนวณค่าคอมมิชชันให้แก่พนักงานขายตรงใช้ระเบียบเรื่องการให้เงินค่าคอมมิชชันจากการขาย ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2542 กับระเบียบเรื่องการทำยอดขายและการเบิกจ่ายค่าคอมมิชชัน ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จำเลยไม่มีแผนกขายด้วยวิธีประมูลราคา แต่นำระเบียบการให้ค่าคอมมิชชันแบบขายตรงมาอนุโลมใช้แก่การขายด้วยวิธีประมูลราคา โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ในตำแหน่งลูกค้าสัมพันธ์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นพนักงานขายตรงในแผนกแบ้งค์กิ้ง มีหน้าที่ขายอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับธนาคารให้แก่ธนาคาร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,000 บาท ปัจจุบันโจทก์ลาออกจากงานไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 ขณะโจทก์ยังเป็นพนักงานขายตรงในแผนกแบ้งค์กิ้ง จำเลยได้ทำสัญญาขายเครื่องคัดนับธนบัตรยี่ห้อ GLORY รุ่น UW -100 ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 24 เครื่อง ด้วยวิธีประมูลราคาในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มเครื่องละ 1,680,000 บาท คิดเป็นเงิน 40,320,000 บาท หักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วราคาเครื่องละ 1,570,093.45 บาท คิดเป็นเงิน 37,682,256 บาท โดยก่อนที่จำเลยจะเสนอราคาเข้าประมูล โจทก์เป็นผู้ริเริ่มนำสินค้าดังกล่าวไปเสนอขายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นำสินต้าไปสาธิตและโน้มน้าวจนธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พอใจและตกลงที่จะซื้อโดยให้จำเลยเสนอราคาเข้าประมูล โจทก์จึงเป็นผู้ติดต่อขายเครื่องคัดนับธนบัตรของจำเลยให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชัน แต่การซื้อขายครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการต่อรองราคาซึ่งโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องและอำนาจในการตัดสินใจของจำเลยด้วย ไม่ได้เกิดจากการกระทำของโจทก์เพียงลำพัง เมื่อพิเคราะห์ความยากง่ายในการมีส่วนร่วมทำให้การซื้อขายสำเร็จลุล่วงประกอบกับความสุจริตในการฟ้องร้องแล้วสมควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชัน 40 เปอร์เซ็นต์ ของค่าคอมมิชชันทั้งหมด ที่จะพึงมีพึงได้ตามระเบียบเรื่องการให้ค่าคอมมิชชันจากการขายและระเบียบเรื่องการทำยอดขายและการเบิกจ่ายค่าคอมมิชชัน ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้คิดค่าคอมมิชชันจากยอดขายสุทธิหลังหักภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าของแถมเกินกำหนด ค่าขนส่ง ค่ารับซื้อสินค้าคืน และค่าแนะนำสินค้า โดยค่าคอมมิชชัน (ปกติ) ให้คิดตามอัตราและสัดส่วนของยอดขายสุทธิเปรียบเทียบกับราคาเอเย่นต์ หากยอดขายสุทธิต่ำกว่าราคาเอเย่นต์น้อยจะได้ค่าคอมมิชชันมาก ทั้งจากอัตราค่าคอมมิชชันที่สูงและสัดส่วนของยอดขายสุทธิที่จะนำมาเป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันมาก หากยอดขายสุทธิต่ำกว่าราคาเอเย่นต์มากจะได้ค่าคอมมิชชันน้อย ส่วนค่าคอมมิชชันพิเศษเพิ่มเติมในแต่ละไตรมาสที่จะจ่ายให้แก่พนักงานที่ทำยอดขายสุทธิได้ตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ ให้คิดจากยอดขายสุทธิทั้งหมด ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักจากยอดขายให้เป็นยอดขายสุทธิในคดีนี้คือค่ารับซื้อเครื่องคัดนับธนบัตรเก่ายี่ห้อ DE LA RUE รุ่น 3110 จำนวน 22 เครื่อง ราคา 6,000,000 บาท ค่าของแถม 890,476.22 บาท ค่าขนส่งและค่าเดิมทางของช่างเพื่อการให้บริการ 100,000 บาท กับค่าซื้อเครื่องอะไหล่และอุปกรณ์เตรียมไว้สำหรับให้บริการหรือบำรุงรักษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประกอบการขายอีก 286,790 บาท รวมค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 7,277,266.22 บาท เครื่องคัดนับธนบัตรที่จำเลยขายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีราคาเอเย่นต์เครื่องละ 1,710,000 บาท รวม 24 เครื่อง เป็นเงิน 41,040,000 บาท จำเลยขายแบบประมูลในราคาหักภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 37,682,256 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงเหลือยอดขายสุทธิ 30,404,989.78 บาท แม้โจทก์จะฟ้องคดีโดยระบุว่ายอดขายสุทธิเป็นเงิน 26,377,579.20 บาท แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นการคิดคำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่เป็นไปตามระเบียบของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับค่าคอมมิชชันน้อยลงเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้ถือยอดขายสุทธิตามความเป็นจริงจำนวน 30,404,989.78 บาท เป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันตามระเบียบของจำเลย เมื่อราคาเอเย่นต์ของเครื่องคัดนับธนบัตรเป็นเงิน 41,040,000 บาท ยอดขายสุทธิเป็นเงิน 30,404,989.78 บาท ยอดขายสุทธิจึงต่ำกว่าราคาเอเย่นต์ 10,635,010.22 บาท หรือ 25.91 เปอร์เซ็นต์ ค่าคอมมิชชันจากการขายครั้งนี้จึงคิดจากยอดขาย 30 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายสุทธิ 30,404,989.78 บาท เป็นเงิน 9,121,496.93 บาท ค่าคอมมิชชัน 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 273,644.91 บาท ส่วนของโจทก์ 40 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นเงิน 109,457.96 บาท กับค่าคอมมิชชันพิเศษเพิ่มเติมสำหรับยอดขายสุทธิในแต่ละไตรมาสเกิน 3,500,000 บาท อีก 4 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสุทธิทั้งหมดจำนวน 30,404,989.78 บาท เป็นเงิน 1,216,199.59 บาท ส่วนของโจทก์อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 486,479.83 บาท รวมค่าคอมมิชชันที่โจทก์มีสิทธิได้รับทั้งหมดเป็นเงิน 595,937.79 บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว 179,709 บาท จึงต้องจ่ายให้โจทก์อีก 416,228.79 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 416,228.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 พฤษภาคม 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.3 ว่า ตามระเบียบเรื่องการทำยอดขายและการเบิกจ่ายค่าคอมมิชชัน ข้อ 6.2 ประกอบระเบียบเรื่องการจ่ายคอมมิชชันให้กับช่าง ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2546 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าคอมมิชชันให้แก่ช่างในกรณีที่ช่างต้องติดตั้งเครื่องคัดนับธนบัตรรุ่น UW-100 ในราคาเครื่องละ 500 บาท โดยหักจากค่าคอมมิชชันของพนักงานขายการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าคอมมิชชันให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยมิได้นำค่าคอมมิชชันช่างจำนวน 12,000 บาท มาหักออกจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องดังกล่าวไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า โจทก์ระบุในคำฟ้องว่ายอดขายสุทธิที่จะนำมาเป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันให้แก่โจทก์มีจำนวน 26,377,579.20 บาท การที่ศาลแรงงานกลางนำยอดขายสุทธิหลังหักภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายแล้วจำนวน 30,404,989.78 บาท มาเป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันให้แก่โจทก์ เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ยอดขายสุทธิหลังหักภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายตามระเบียบของจำเลยแล้วมีจำนวน 30,404,989.78 บาท เป็นยอดขายสุทธิตามความเป็นจริง แม้โจทก์จะฟ้องคดีโดยระบุว่ายอดขายสุทธิเป็นเงิน 26,377,579.20 บาท ก็เห็นได้ว่าเป็นการคิดคำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่เป็นไปตามระเบียบของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับค่าคอมมิชชันน้อยลง เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้ถือยอดขายสุทธิตามความเป็นจริงเป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันตามระเบียบของจำเลย เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจเห็นสมควรให้นำยอดขายสุทธิตามความเป็นจริงมาเป็นฐานในการคิดค่าคอมมิชชันเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ อันเป็นการใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่า การคิดค่าคอมมิชชันพิเศษเพิ่มเติมในแต่ละไตรมาสต้องคิดจากยอดขาย 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสุทธิ 30,404,989.78 บาท ซึ่งเป็นเงิน 9,121,496.93 บาท เช่นเดียวกับการคิดค่าคอมมิชชันปกติไม่ใช่คิดจากยอดขายสุทธิทั้งหมดตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เห็นว่า ระเบียบเรื่องการให้เงินค่าคอมมิชชันจากการขาย กำหนดวิธีคิดค่าคอมมิชชันปกติและวิธีคิดค่าคอมมิชชันพิเศษเพิ่มเติมในแต่ละไตรมาสไว้แยกต่างหากจากกัน โดยวิธีคิดค่าคอมมิชชันปกติให้คิดจากยอดขายสุทธิที่ถูกตัดหักแล้ว ตามอัตราแห่งความมากน้อยของยอดขายสุทธิที่ต่ำกว่าราคาเอเย่นต์ ไม่ได้ให้คิดจากยอดขายสุทธิทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “ถ้าท่านขายราคาต่ำกว่าราคาเอเย่นต์จะคิดให้ตามอัตราสัดส่วนของยอดขายที่ถูกตัดหักจากยอดขายเต็มแล้ว ตามอัตราที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ ถ้าขายราคาต่ำกว่าเอเย่นต์ภายใน 2 เปอร์เซ็นต์จะคิดคำนวณจากยอดขาย 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าขายราคาต่ำกว่าเอเย่นต์ภายใน 5 เปอร์เซ็นต์ จะคิดคำนวณจากยอดขาย 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าขายราคาต่ำกว่าเอเย่นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ จะคิดคำนวณจากยอดขาย 70 เปอร์เซ็นต์…” ลดหลั่นกันไปจนถึงถ้าขายราคาต่ำกว่าเอเย่นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ จะคิดคำนวณจากยอดขาย 10 เปอร์เซ็นต์ แต่วิธีคิดค่าคอมมิชชันพิเศษเพิ่มเติมในแต่ละไตรมาสให้คิดจากยอดขายสุทธิทั้งหมดตามอัตราตามมากน้อยของยอดขายสุทธิในแต่ละไตรมาสที่ต้องขายได้ตั้งแต่ 2,000,001 บาท ขึ้นไป ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “อนึ่ง พนักงานขายจะได้รับคอมมิชชันพเศษเพิ่มเติมในแต่ละไตรมาส (รวม 3 เดือน) ดังต่อไปนี้ ถ้าขายได้ 2,000,001 บาท ขึ้นไป จะได้รับค่าคอมมิชชันเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายทั้งหมด ถ้าขายไป 2,500,000 บาท ขึ้นไป จะได้รับค่าคอมมิชชันเพิ่ม 2 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายทั้งหมด ถ้าขายได้ 3,000,000 บาท ขึ้นไป จะได้รับค่าคอมมิชชันเพิ่ม 3 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายทั้งหมดถ้าขายได้ 3,500,000 บาท ขึ้นไป จะได้รับค่าคอมมิชชันเพิ่ม 4 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายทั้งหมด” ที่ศาลแรงงานกลางคิดค่าคอมมิชชันพิเศษเพิ่มเติมในแต่ละไตรมาสจากยอดขายสุทธิทั้งหมดจึงถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share