แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาททางนิคมสร้างตนเองปราสาทได้จัดสรรให้แก่โจทก์และยังอยู่ในระยะเวลาตามเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทได้ จำเลยมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าจำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมได้สิทธิครอบครอง ส่วนโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม เมื่อจำเลยเข้ายึดถือและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ จำเลยจึงต้องออกจากที่ดินพิพาท
การที่จำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การกำหนดค่าเสียหายว่าแค่ไหนเพียงใดนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมกับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4036 ตำบลบักได กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 600 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่นิคมสร้างตนเองปราสาท จังหวัดสุรินทร์ จัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 โจทก์และจำเลยเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองปราสาท จำเลยได้รับจัดสรรที่ดินแปลงอื่นให้ครอบครองอยู่แล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2544 อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ (ผู้มีอำนาจออกหลักฐานในขณะนั้น) ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2548 เจ้าพนักงานที่ดินกิ่งอำเภอพนมดงรักออกหลักฐานสำหรับที่ดินพิพาทเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) หลังจากนั้นจำเลยบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพนมดงรัก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อครองชีพ พ.ศ.2511 ที่รัฐจัดสรรให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองปราสาทเข้าทำประโยชน์ตามมาตรา 6 โดยสมาชิกนิคมจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว อันได้แก่ สมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินจะใช้ที่ดินเพื่อการอื่นไม่ได้ จะต้องใช้เพื่อการเกษตรตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดไว้เท่านั้น ถ้าจะทำการอื่นต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามมาตรา 9 เมื่อสมาชิกนิคมทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและเป็นสมาชิกนิคมมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี อธิบดีจะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคม ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์แล้วจะไปขอใบออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ตามมาตรา 11 เป็นต้น ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากทางนิคมสร้างตนเองปราสาทที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรวมทั้งระเบียบของนิคมดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกอธิบดีสั่งให้ออกจากนิคมได้ตามมาตรา 28 แสดงให้เห็นว่านิคมได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากรัฐให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคม เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวทางนิคมได้จัดสรรให้แก่โจทก์และยังอยู่ในระยะเวลาตามเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทได้ จำเลยมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าจำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมได้สิทธิครอบครอง ส่วนโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม เมื่อจำเลยเข้ายึดถือและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ จำเลยจึงต้องออกจากที่ดินพิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อมาในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ซึ่งในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 600 บาท นั้น เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำขอเนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้นั้น เมื่อพิจารณาจากอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งฉบับแล้ว เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายถึงเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับไว้ในอุทธรณ์ของโจทก์แล้วว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยโดยค่าขาดประโยชน์คิดเป็นเงินเดือนละ 4,000 บาท และที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินพิพาทว่าเป็นอย่างไร แต่ได้ความจากคำเบิกความของจำเลย จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยโดยอ้างจำเลยเป็นพยานโจทก์นั้น เห็นว่า การกำหนด ค่าเสียหายว่าแค่ไหนเพียงใดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจใช้ดุลพินิจและกำหนดให้โจทก์ตามสมควรได้ ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยนั้น เห็นว่า ไม่เป็นสาระอันควรต้องวินิจฉัยอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท