คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีสาขาในประเทศไทยหรือไม่และมอบอำนาจให้ พ. ฟ้องคดีหรือไม่ ไม่รับรู้และรับรอง เป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลอย่างไร และไม่ได้คัดค้านความไม่ถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์นำสืบ ม. ซึ่งเป็นเพียงพนักงานประเมินความเสียหายของโจทก์รับรองหนังสือมอบอำนาจ ดังนี้รับฟังได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่ถูกต้องแท้จริง ไม่จำเป็นต้องนำสืบผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของ ล. ในฐานะอะไร และมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับ ล. เจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว อัน ล. ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อ ล. ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาจดทะเบียนตั้งสาขาประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยมอบอำนาจให้นายพิชัย จุฬาโรจน์มนตรี ผู้จัดการสาขาในประเทศไทยกระทำการแทน โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทเอเซีย จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน80-1508 อยุธยา ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่15 สิงหาคม 2526 เวลา 11.15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1508 อยุธยา จากทางด่วนดินแดงมุ่งหน้าไปที่ถนนรัชดาภิเษกด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงแซงรถยนต์บรรทุกที่แล่นอยู่ข้างหน้าไปชนเบียดครูดด้านซ้ายของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานคร ซึ่งแล่นมุ่งหน้าไปทางเดียวกัน ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนได้เปรียบเที่ยบปรับจำเลยที่ 1 ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมจำนวน100,500 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2526จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสาขาดำเนินกิจการในประเทศไทยหรือไม่ กับจะได้มอบอำนาจให้นายพิชัย จุฬาโรจน์มนตรีฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่รับรู้และรับรองจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1508อยุธยา จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-1508 อยุธยา ไว้จากนายเล็ก แหยมดอนไพร ซึ่งจะต้องรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยและผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเท่านั้นเมื่อนายเล็กไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดชอบด้วยกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 มิใช่เอกสารที่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะมิได้ลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมีรายการแก้ไขมากจนไม่น่าจะเป็นกรมธรรม์ที่แท้จริง เท่ากับโจทก์มิได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานครโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานครที่ขับรถด้วยความเร็วสูงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องหลบออกทางด้านซ้ายมือไปเฉี่ยวกับรถยนต์บรรทุกสิบล้ออีกคันหนึ่ง และจำเลยที่ 1 หักรถกลับมาทางด้านขวามือจึงเกิดเฉี่ยวชนกับรถหมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานคร ความเสียหายของโจทก์มีเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 50,000 บาท หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ก็ไม่เกิน 100,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์95,972 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายเล็ก แหยมดอนไพร เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-1508 อยุธยา ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยในวงเงินไม่เกินครั้งละ 100,000 บาท เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานครของบริษัทเอเซีย จำกัด ซึ่งนายทวี เรียมทองขับรถไปในทางเดียวกันได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 6ง-9101 กรุงเทพมหานครไปเป็นเงิน 100,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2526
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำผู้รับมอบอำนาจของโจทก์มาเบิกความรับรองเอกสารหมาย จ.5 คงมีแต่นายมนตรี รัตนสาขา ซึ่งเป็นเพียงพนักงานประเมินความเสียหายของโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นในการมอบอำนาจนี้แต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้นั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีสาขาในประเทศไทยหรือไม่ และมอบอำนาจให้นายพิชัยจุฬาโรจน์มนตรี ฟ้องคดีนี้หรือไม่ไม่รับรู้และรับรอง อันเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลอย่างไรและไม่ได้คัดค้านความไม่ถูกต้องของเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท แม้โจทก์จะนำสืบนายมนตรี ซึ่งเป็นเพียงพนักงานประเมินความเสียหายของโจทก์รับรองเอกสารหมาย จ.5 ก็รับฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.5 นั้นเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่ถูกต้องแท้จริงหาจำเป็นจะต้องนำสืบผู้รับมอบอำนาจแต่อย่างใดไม่…
ในปัญหาต่อไป จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-1508 อยุธยาอันเป็นรถยนต์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ให้ปรากฏเลยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของนายเล็ก แหยมดอนไพรคันดังกล่าวในฐานอะไร และมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับนายเล็กจึงฟังไม่ได้ว่านายเล้กเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้นายเล็กต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ครั้งนี้ จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่นายเล็กต้องรับผิดชอบเมื่อนายเล็กไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดด้วย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 93,402 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน93,402 บาท นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องมิให้เกิน 7,014.06 บาท และให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2.

Share