คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8227/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช. กับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ช.ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2535 ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ระหว่างที่ช.มีชีวิตอยู่ ช.ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้น ช.ยกที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141 ให้จำเลยที่ 2 และมีการเปลี่ยนคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างสมรสโจทก์ที่ 1 และ ช. ได้หย่าขาดจากกันประกอบกับที่ดินมรดกนั้น ช. ได้รับมาก็ไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใด กรณีจึงเป็นที่สงสัย ต้องสันนิษฐานว่า ที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ดังนี้เงินที่ ช.ได้มาจากการขายที่ดินดังกล่าวแล้วนำไปฝากธนาคาร เมื่อเป็นการได้ทรัพย์สินมาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นมาใช้บังคับจะนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับหาได้ไม่ เงินที่ช. ได้จากการขายที่ดินมรดกจึงเป็นสินสมรส การที่ ช. นำเงินดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลของสินสมรสไปซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ที่พิพาท ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์ที่ 1 กับ ช. ซึ่งในการจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 การที่ ช.ยกที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรส โจทก์ที่ 1จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ระหว่างช. กับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชลอ แสงวิเชียร โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชลอเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2533 นายชลอทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 86 บี และ 141 บี จากจำเลยที่ 1 ในราคาห้องละ 369,000 บาท รวม 2 ห้อง เป็นเงิน 738,000 บาท ต่อมาที่ดินที่นายชลอจะซื้อได้แบ่งแยกโฉนดเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 99917และ 9998 และทางราชการออกเลขที่บ้านให้คือ บ้านเลขที่ 10/86และ 10/141 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2534 นายชลอได้เปลี่ยนสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 86 บี ให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนนายชลอเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 นายชลอผ่อนชำระราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ทั้งสองห้องให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วสิทธิในที่ดินและทาวน์เฮาส์ดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายชลอ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534นายชลอยกที่ดินโฉนดเลขที่ 99984 พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่141 บีให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทนและไม่ได้เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด โดยโจทก์ที่ 1ไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิติดตามเรียกร้องเอาทรัพย์ดังกล่าวคืน ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 99917 และ 99984 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/86 และ 10/141 ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และทาวน์เฮาส์ทั้งสองห้องดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเองหากจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนได้เพียงฝ่ายเดียวหากจำเลยทั้งสองไม่อาจจดทะเบียนตามคำขอข้างต้นได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือหากมีภาระติดพัน ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ราคาที่ดินและทาวน์เฮาส์ทั้งสองห้องแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 800,000 บาทและขับไล่จำเลยที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินและทาวน์เฮาส์ทั้งสองห้องด้วย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินและทาวน์เฮาส์ที่พิพาทไม่ใช่สินสมรส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 99917 และ 99984 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/86 และ 10/141 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ไปจดทะเบียนได้เพียงฝ่ายเดียว หากไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ราคาที่ดินและทาวน์เฮาส์ทั้งสองห้องแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินห้องละ369,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาททั้งสองห้อง คำขอของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 2 บุตรโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของคำขอที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 99984 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสอง รวมทั้งคำขอที่ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 369,000 บาท หากไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำขอที่ให้ขับไล่จำเลยที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินและทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141 ดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายชลอ แสงวิเชียร กับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 นายชลอถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2535 ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชลอ ระหว่างที่นางชลอมีชีวิตอยู่นายชลอได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/86 และ 10/141 จากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นนายชลอยกที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141 ให้จำเลยที่ 2 และมีการเปลี่ยนคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/86 จากนายชลอเป็นจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ 2 ห้อง ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่7 มิถุนายน 2534
คงมีปัญหาตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายชลอหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำสืบว่าโจทก์ที่ 1 กับนายชลออยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2477ต่อมานายชลอได้รับมรดกเป็นที่ดินจากบิดาแล้วขายที่ดินมรดกดังกล่าวไปเมื่อประมาณปี 2531 ถึง 2532 เห็นว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างสมรสโจทก์ที่ 1 และนายชลอได้หย่าขาดจากกันประกอบกับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบว่า ที่ดินมรดกนั้นนายชลอได้รับมาเป็นทรัพย์สินประเภทใด กรณีเป็นที่สงสัยจึงต้องสันนิษฐานว่าที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 เมื่อนายชลอขายที่ดินดังกล่าวได้เงินมาจำนวน 11,000,000 บาท แล้วนำไปฝากธนาคาร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 กรณีเป็นการได้ทรัพย์สินมาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นมาใช้บังคับ จะนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับหาได้ไม่ดังนั้น เงินจำนวน 11,000,000 บาท ที่นายชลอได้มาจากการขายที่ดินมรดกย่อมเป็นสินสมรส การที่นายชลอนำเงินดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นดอกผลของสินสมรสไปซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์ที่ 1 กับนายชลอซึ่งในการจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชลอยกที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรส โจทก์ที่ 1 จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ระหว่างนายชลอกับจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share