คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8224/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงจำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลเท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในปัญหานี้และโจทก์มีสิทธิดำเนินคดีทางศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2532 จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำภาพยนตร์โฆษณาแปรงสีฟันวิคตอรี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของจำเลยทั้งสองโดยว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ออกแบบเค้าโครงเรื่องตลอดจนถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวจนแล้วเสร็จโจทก์ได้ทำงานตามที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างจนเป็นที่พอใจของจำเลยทั้งสองและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบประมาณการค่าใช้จ่ายในการนี้ว่าเป็นเงิน 469,250 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้อนุมัติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2532 โจทก์ได้เตรียมการที่จำเป็นเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาให้แก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 26 และ 27กันยายน 2532 แต่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา โดยรับจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และการที่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากค่าบริการที่จำเลยทั้งสองตกลงชำระให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายในการจัดทำภาพยนตร์โฆษณา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 202,431 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 194,825 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ดำเนินการสืบราคาและจัดการเรื่องอื่น ๆ กับแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาแปรงสีฟันวิคตอรี่เท่านั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อกับโจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์สูงเกินสมควรขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์194,825 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่26 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 4 เมษายน 2533) ให้จำเลยทั้งสองรับผิดไม่เกิน 7,606 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาแปรงสีฟันยี่ห้อ “วิคตอรี่” ในชื่อเรื่อง “เมืองอวกาศ” ซึ่งต่อมานายโชคชัย นันทอารี ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติใบเสนอราคาทำภาพยนตร์โฆษณาพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่ทางนำสืบโจทก์มิได้นำสืบหรืออ้างหนังสือรับรองมาแสดงยืนยันให้เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามคำฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีทางศาล ดังนั้นแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) เห็นว่า ปัญหาว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลเท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในปัญหานี้ และโจทก์มีสิทธิดำเนินคดีทางศาลได้ และศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้มอบหมายให้นายโชคชัยไปดำเนินการติดต่อและมีอำนาจอนุมัติว่าจ้างโจทก์แทนได้จริง จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาว่าจ้างที่นายโชคชัยได้กระทำแทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาโดยโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าเป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ 1 นั้นข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สั่งการว่าจ้างโจทก์ทำภาพยนตร์โฆษณาพิพาทในฐานะส่วนตัวด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดนั้น เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน159,325 บาท ที่พิพากษาศาลอุทธรณ์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์159,325 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share