คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ แต่ไม่ระบุวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม อันเป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1657 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และเมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
แม้เอกสารฉบับพิพาทพร้อมคำแปลจะมีข้อความว่า ป.เจ้ามรดกเป็นผู้ทำ และมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ โดยผู้ทำลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ.มาตรา 93 กรณีไม่อาจฟังว่า ป.เจ้ามรดกทำพินัยกรรมนั้นไว้จริง
เมื่อเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันระหว่าง ป.เจ้ามรดกกับผู้คัดค้านเป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรมเพราะ ป.เจ้ามรดกไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฏว่า ป.เจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ดังนั้น เมื่อการรับบุตรบุญธรรมของ ป.ไม่สมบูรณ์ และไม่มีผลตามกฎหมาย และเมื่อ ป.เจ้ามรดก ไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทของ ป. ทั้งเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ป. ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ป.ได้

Share