คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ที่ได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ ต่อมาปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 สั่งให้ควบคุมบริษัท ส. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัท ส. ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยการควบคุมบริษัทตามกฎหมายจนกว่าจะแล้วเสร็จ และปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท ส. ว่า ผู้คัดค้านทั้งแปดและ ธ. ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและคณะกรรมการควบคุมบริษัทได้ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทแทนผู้คัดค้านทั้งแปดกับพวกแล้ว อันเป็นผลจากการดำเนินการตามกฎหมายของคณะกรรมการควบคุมบริษัท เมื่อผู้คัดค้านทั้งแปดหมดสภาพจากการเป็นกรรมการดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 7 ต่อไปเนื่องจากคำร้องของผู้ร้องไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้มีคำสั่งว่า การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 เป็นการประชุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว
ผู้คัดค้านทั้งแปดยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด มีวัตถุประสงค์รับประกันชีวิตโดยมีสหกรณ์ต่าง ๆ รวม 2,232 แห่ง เป็นผู้ถือหุ้น ตามหนังสือรายชื่อสหกรณ์ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ขณะนั้นมีคณะกรรมการบริษัท 14 คน เป็นชุดที่ 10 คือพลตำรวจโทเฉลิม นายกำจัด พันตำรวจเอกณรงค์ ผู้คัดค้านที่ 6 ผู้ร้อง นายประสาร นายธันว์ ผู้คัดค้านที่ 7 นายสมคิด นายศรีวัย นายวิชัย นายสันติภาพ นางสาวสุวรรณี และนายวิรัตน์ ตามหนังสือรับรอง ในการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นหลากหลายไม่อาจหาข้อยุติได้ มีการถอดถอนกรรมการบริษัทชุดที่ 10 ดังกล่าว และเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เป็นชุดที่ 11 รวม 7 คน มีผู้คัดค้านที่ 7 เป็นประธานกรรมการ ซึ่งนายกำจัดได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 บริษัทสหประกันชีวิตจำกัด ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 /2547 ตามสำเนาระเบียบวาระการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งมีวาระพิจารณาเลือกตั้งกรรมการบริษัท เนื่องจากมีกรรมการที่ต้องออกตามวาระ 4 คน คงเหลือกรรมการบริษัท 10 คน ในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่ากรรมการบริษัทมี 2 ชุดซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเสนอให้คณะกรรมการบริษัททั้ง 2 ชุดลาออก หากไม่ลาออกก็ให้ถอดถอนเพื่อให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ คณะกรรมการบริษัทชุดที่ 10 ยื่นใบลาออก 2 คน คือ นายวิรัตน์และผู้คัดค้านที่ 6 ส่วนคณะกรรมการบริษัท ชุดที่ 11 ยื่นใบลาออกทั้งคณะ ในการประชุมดังกล่าวต่อมาได้มีการลงมติเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ จำนวน 9 คน คือผู้คัดค้านทั้งแปด และนายธันว์ ตามสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 ที่ได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ จำนวน 9 คน โดยเห็นว่า จะต้องเลือกตั้งกรรมการบริษัทเพียง 4 คน แทนกรรมการบริษัทชุดที่ 10 ที่ครบวาระต้องออกเท่านั้นกรรมการบริษัทที่เหลืออีก 10 คน ยังไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกและที่ประชุมใหญ่ยังไม่ได้มีมติให้ถอดถอนหรือมีมติให้ถอดถอนก็ไม่ชอบ มติของที่ประชุมใหญ่ที่เลือกตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่จึงไม่ชอบ ต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ.2535 สั่งให้ควบคุมบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่าบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ซึ่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้บริษัทแก้ไขแล้ว แต่ฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทไม่ดีขึ้น ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 98/2550 เรื่องให้ควบคุมบริษัทสหประกันชีวิตจำกัด และในวันเดียวกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัทสหประกันชีวิตจำกัด ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยการควบคุมบริษัทตามกฎหมายจนกว่าจะแล้วเสร็จ ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 99/2550 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด นอกจากนี้ปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด วันที่ 30 เมษายน 2551 ว่า ผู้คัดค้านทั้งแปดและนายธันว์ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2547 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และคณะกรรมการควบคุมบริษัทตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวได้ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทแทนผู้คัดค้านทั้งแปดกับพวกแล้ว อันเป็นผลจากการดำเนินการตามกฎหมายของคณะกรรมการควบคุมบริษัท เมื่อผู้คัดค้านทั้งแปดหมดสภาพจากการเป็นกรรมการดังกล่าว กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 7 ต่อไป เนื่องจากคำร้องของผู้ร้องไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share