คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทราบถึงการกระทำผิดฐานยักยอกของจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2530 ส่วนที่ผู้เสียหายให้จำเลยนำเงินที่ขาดมาส่งมอบให้ผู้เสียหายภายใน 30 วัน นับจากวันดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายผ่อนผันให้โอกาสจำเลยนำเงินมาคืนผู้เสียหายเพื่อผู้เสียหายจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย ไม่มีผลที่จะทำให้ถือว่าผู้เสียหายเพิ่งทราบถึงการกระทำผิดของจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับจากวันที่ผู้เสียหายผ่อนผันให้จำเลยนำเงินมาคืน เมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนับจากวันที่ 31 สิงหาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352และให้จำเลยคืนเงิน 84,434 บาทแก่ผู้เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 84,434 บาท แก่ผู้เสียหายจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความรับกันว่า จำเลยเป็นพนักงานขายสินค้าของโจทก์ร่วมทำหน้าที่ขายสินค้าผ้าอนามัยยี่ห้อแซนนิต้าของโจทก์ร่วมที่ต่างจังหวัดเมื่อระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2530 จำเลยเบิกสินค้าผ้าอนามัยจากโจทก์ร่วมไปขายรวม 7 ครั้ง คิดเป็นเงินรวม 274,534 บาทตามระเบียบของโจทก์ร่วมจำเลยต้องนำสินค้าที่ขายไม่ได้และเงินที่ขายสินค้าได้มาส่งมอบให้โจทก์ร่วมภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2530ปรากฏว่าจำเลยนำสินค้าที่ขายไม่ได้มาส่งมอบให้โจทก์ร่วมในวันที่31 สิงหาคม 2530 แต่ส่งเงินที่ขายสินค้าได้ขาดจำนวนไป 84,434 บาทโจทก์ร่วมตกลงให้จำเลยนำเงินที่ขาดมาชำระให้โจทก์ร่วมภายใน30 วัน นับจากวันดังกล่าว โดยโจทก์ร่วมได้ทำหลักฐานให้จำเลยลงชื่อไว้ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.7 ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่นำมาชำระให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้นายอดุลย์ กมลเพชร์ร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกธีรชัย ทองสุกแก้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2530 เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยแล้วข้างต้นที่ได้ความว่าจำเลยนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าส่งมอบให้โจทก์ร่วมในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 ขาดจำนวนไป84,434 บาท อันเป็นการผิดระเบียบของโจทก์ร่วมนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนางสาววันทนา อนันตสิน พนักงานบัญชีและหัวหน้าพนักงานฝ่ายขายของโจทก์ร่วมพยานของโจทก์ที่ว่า ในวันที่จำเลยส่งมอบเงินขาดจำนวนดังกล่าว จำเลยรับว่าได้ขายสินค้าของโจทก์ร่วมตามจำนวนเงินที่ขาดส่งนั้นไปแล้ว และจากคำเบิกความของนายชัยสิทธิ์ สุขกาญจนาภรณ์กุล ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ร่วมพยานของโจทก์ร่วมที่ว่า ในวันดังกล่าวจำเลยรับกันว่าจำเลยได้รับเงินค่าสินค้าที่ขาดส่งจากลูกค้าและนำไปใช้จ่ายส่วนตัวแล้วนายชัยสิทธิ์จึงได้บอกจำเลยให้นำเงินที่ขาดส่งมาคืนให้โจทก์ร่วมภายใน 30 วัน โดยได้ทำหลักฐานให้จำเลยลงชื่อไว้ตามใบสั่งจ่ายเอกสารหมาย จ.7 นั้น เชื่อได้ว่าหากจำเลยได้กระทำความผิดฐานยักยอกเงินที่ขาดส่งจำนวน 84,434 บาทไปแล้ว โจทก์ร่วมก็ทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2530ส่วนที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินที่ขาดมาส่งมอบให้โจทก์ร่วมภายใน 30 วัน นับจากวันดังกล่าว เห็นว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันให้โอกาสจำเลยนำเงินมาคืนให้โจทก์ร่วมเพื่อโจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย ซึ่งไม่มีผลที่จะทำให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับจากวันที่โจทก์ร่วมผ่อนผันให้จำเลยนำเงินมาคืนให้โจทก์ร่วมและด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นว่าการที่โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายอดุลย์ไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกธีรชัย พนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2530 นั้น เป็นการร้องทุกข์เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับจากวันที่ 31 สิงหาคม 2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96ประกอบด้วยมาตรา 356”
พิพากษายืน

Share