คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมแก้ไขสัญชาติของโจทก์ในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านจากสัญชาติไทยเป็นญวน และนายอำเภอท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแล้ว แม้การออกคำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผนของทางราชการ จะไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ต้นฉบับเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นส่งต่อศาลโดยตรง ไม่ต้องมีพยานบุคคลเข้าเบิกความรับรอง ศาลก็รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93
ขณะโจทก์ที่ 1 เกิด บิดามารดาของโจทก์ที่ 1 ไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2480 มาตรา 29 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง จึงถือว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 เกิด บิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) โจทก์ที่ 1 จึงถูกถอนสัญชาติไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนายกุยดิ้นและนางถี่ยิดคนต่างด้าว เชื้อชาติญวน สัญญาติญวน มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โจทก์ทั้งสองเกิดที่จังหวัดนครพนม มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติและได้รับบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยมีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองให้เป็นสัญญาติญวน เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญญาชาติไทยตามกฎหมาย และเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยให้การว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติญวนตามทะเบียนบ้านเลขที่ ๑๐๕๖/๑ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ต่อมาโจทก์ทั้งสองย้ายไปอยู่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อโจทก์ทั้งสองย้ายกลับมาอยู่จังหวัดนครพนมปรากฏว่าทะเบียนบ้านระบุว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย เมื่อทางราชการตรวจพบจึงสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขทะเบียนบ้านของโจทก์ทั้งสองจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติญวณตามเดิม โจทก์ทั้งสองถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ เนื่องจากไม่ปรากฏว่าบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๑ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย และได้รับบัตรประจำตัวประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองให้เป็นสัญชาติญวนโดยไม่ทราบเหตุผล เป็นการละเมิดสิทธิการได้สัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมแก้ไขสัญชาติของโจทก์ทั้งสองในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ทั้งสองจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติญวน ตามเอกสารหมาย ล.๘ และนายอำเภอท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๙ และ จ.๑๖ แม้การออกคำสั่งของจำเลยดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผนกของทางราชการ จะไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่ผลของการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานเมืองนครพนมเรียกบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ทั้งสองคืนไปและเป็นการโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เอกสารหมาย จ. ๓ หาใช่สำเนาเอกสารไม่ หากแต่เป็นต้นฉบับเอกสารที่สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมในฐานะนายทะเบียนคนต่างด้าวได้ทำขึ้นเพื่อแจ้งต่อศาลจังหวัดนครพนมว่า ไม่สามารถจัดส่งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดต่อศาลตามหมายเรียกได้ เพราะได้ส่งไปทำลายตามระเบียบเสียแล้ว เอกสารดังกล่าวโจทก์ระบุอ้างเป็นพยานเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุที่ไม่สามารถส่งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดต่อศาลได้และเป็นต้นฉบับเอกสารที่
เจ้าพนักงานทำขึ้นส่งต่อศาลโดยตรง ไม่ต้องมีพยานบุคคลเข้าเบิกความรับรอง ศาลก็รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ บัญญัติว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น ๑)…………………………………………………………………
๒)…………………………………………………………………
๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
จึงมีปัญหาว่า ขณะโจทก์ที่ ๑ เกิดในประเทศไทยนั้น บิดามารดาของโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้วหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ ว่า “คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรสยามโดยไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้” และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พุทธศักราช ๒๔๗๙ ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ก็บัญญัติในมาตรา ๔ ว่า “คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยามภายหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวตามความในมาตราก่อนภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองได้…………………………………….” ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า บิดามารดาโจทก์ที่ ๑ เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๓ แต่มิได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน ๓๐ วัน ตาม บทบัญญัติดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๘ จึงได้ขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนั้น ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๓ ถึงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๘ แสดงว่าบิดามารดาของโจทก์ที่ ๑ ไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๐ มาตรา ๒๙ จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บิดามารดาของโจทก์ที่ ๑ เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาของโจทก์ที่ ๑ เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้ปฏิบัติตาม บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแต่ประการใด จึงต้องถือว่าขณะที่โจทก์ที่ ๑ เกิด บิดามารดาของโจทก์ที่ ๑ เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑ (๓) โจทก์ที่ ๑ จึงถูกถอนสัญชาติไทย
พิพากษายืน

Share