แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดสมุดคู่ฝากเงินธนาคารของจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ต่อมาจำเลยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท ม. ว่าสมุดคู่ฝากเงินธนาคารสูญหาย และจำเลยนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปขอออกสมุดคู่ฝากเงินเล่มใหม่จากธนาคารและเบิกถอนเงินออกไปเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินฝากดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มีผลใช้บังคับ จึงมิใช่ทรัพย์ที่จะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การเบิกถอนเงินของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่จำเลยรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 42 คงเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 267 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 42
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 42 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งความเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่รู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยถอนเงินไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเชียงราย ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ได้มาก่อนพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 42 มีผลใช้บังคับ จึงไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว การเบิกถอนเงินของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน2536 พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตรวจค้นบ้านจำเลยและยึดสมุดคู่ฝากเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาเชียงราย จำนวน 5 เล่ม ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2536 จำเลยแจ้งต่อร้อยตำรวจโทมานพ ขัดชา ว่าสมุดคู่ฝากเงินดังกล่าวสูญหายไปและวันที่ 28 มิถุนายน 2536 จำเลยนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวยื่นต่อสมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเชียงราย เพื่อให้ออกสมุดคู่ฝากเงินเล่มใหม่จำนวน 5 เล่ม และวันเดียวกันจำเลยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่จำเลยและนายสมศักดิ์ ยงประเดิมเป็นเจ้าของร่วมกันไปจำนวน 610,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 มกราคม2537 คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งที่ 2/2537 ตามเอกสารหมาย ล.1ให้ยกเลิกการอายัดชั่วคราวทรัพย์สินดังกล่าวเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกตรวจสอบได้มาก่อนพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ เห็นว่าเงินฝากที่จำเลยเบิกถอนไปจำนวน 610,000 บาท จากบัญชีเงินฝากที่จำเลยและนายสมศักดิ์ ยงประเดิม เป็นเจ้าของร่วมกันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเชียงราย นั้น เป็นทรัพย์สินที่จำเลยและนายสมศักดิ์ยงประเดิม ผู้ถูกตรวจสอบได้มาก่อนพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มีผลใช้บังคับ จึงมิใช่ทรัพย์ที่จะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การเบิกถอนเงินของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่จำเลยรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 42นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 42 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5