แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่เครื่องประดับส่วนตัวของพนักงานจำเลยสูญหายซึ่งยังไม่ปรากฏชัดว่ามีบุคคลใดลักไปหรือไม่ และการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์กับพนักงานอื่นจะเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นการสั่งโดยใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคลของจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิจะโต้แย้งได้หากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ การที่สามีโจทก์โทรศัพท์ถึง ป. และจะขอเข้าพบเพื่อสอบถามและขอให้โจทก์กลับเข้าทำงานแม้จะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและอาจสร้างความวุ่นวายแก่จำเลยบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่ถึงขนาดจะเลิกจ้างได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 49
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง 11,076 บาท และเงินเพิ่มทุก 7 วัน พร้อมดอกเบี้ย ค่าชดเชย 26,943 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินของจำเลยและของพนักงานสูญหายหลายครั้ง และจำเลยเคยลงโทษโจทก์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาแล้ว จนถึงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ได้มีเหตุการณ์ทรัพย์สินส่วนตัวของพนักงานระดับบริหารสูญหายอีก จำเลยจึงได้ทำการสอบสวนจนได้ความว่าพนักงานอื่น ๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่โจทก์เป็นผู้ต้องสงสัยมากที่สุดจึงสั่งพักงานโจทก์ แต่โจทก์ได้พยายามให้คนมาข่มขู่ที่หน้าโรงงานของจำเลยถึงขนาดจะทำร้ายร่างกายพนักงานของจำเลย จำเลยจึงได้พิจารณาเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงไม่สมควรที่จะจ้างอีกต่อไป จึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ ในระหว่างพักงานโจทก์ไม่ได้ทำงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงเรื่องค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายกันได้คงติดใจให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์กับพนักงานอื่นถูกสั่งพักงานเพื่อสอบสวนเรื่องทรัพย์สินสูญหาย พนักงานอื่นยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์กับสามีโจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง และสามีโจทก์มาก่อกวน ข่มขู่ เพื่อไม่ให้ถูกพักงาน จำเลยจึงได้แก้ไขปัญหาโดยการปรับเปลี่ยนบุคลากรใหม่ ให้เลิกจ้างจำเลยโดยไม่ได้เลิกจ้างพนักงานอื่นด้วย จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ตรงตามสาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า ศางแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ว่ามาจากสาเหตุของสามีโจทก์ ซึ่งตรงกับที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้และตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า เมื่อจำเลยได้พิจารณาเห็นว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เครื่องประดับส่วนตัวของนางพิมพ์ใจสูญหายประมาณ 10 คน รวมทั้งโจทก์ด้วย จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์และพนักงานอีกส่วนหนึ่งพักงานตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2548 แต่ในช่วงเย็นของวันที่ 16 มีนาคม 2548 สามีโจทก์ได้ขอเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายปรีดาผู้จัดการฝ่ายบุคคลและธุรการของจำเลยจากโจทก์ และได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายปรีดาเพื่อไม่ให้โจทก์ถูกลงโทษและให้ทำงานต่อไป ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2548 สามีโจทก์ได้โทรศัพท์ไปที่บริษัทจำเลยเพื่อขอให้โจทก์ทำงานต่อไปอีก โดยพูดคุยด้วยเสียงอันดัง แล้วแจ้งว่าจะมาพบนายปรีดาด้วยตนเอง ซึ่งต่อมาสามีโจทก์ได้ไปบริษัทจำเลย แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยเห็นว่าสามีโจทก์พูดจาเอะอะโวยวายจึงแจ้งให้นายปรีดาทราบ นายปรีดาเกรงว่าจะเกิดปัญหาจึงไม่ให้เข้าพบและรายงานเรื่องให้ผู้บริหารจำเลยทราบ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะเห็นว่าหากให้โจทก์ทำงานต่อไป โจทก์และครอบครัวของโจทก์จะต้องสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นแก่จำเลย ดังนี้ แม้ว่าการที่เครื่องประดับส่วนตัวของพนักงานจำเลยสูญหายซึ่งยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ามีบุคคลใดลักไปหรือไม่ และการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์กับพนักงานอื่นจะเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นการสั่งโดยใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคลของจำเลย ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะโต้แย้งได้หากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ การที่สามีโจทก์โทรศัพท์ถึงนายปรีดาและจะขอเข้าพบเพื่อสอบถามและขอให้โจทก์กลับเข้าทำงานแม้จะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและอาจสร้างความวุ่นวายแก่จำเลยบ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นเหตุอันสมควรที่ถึงขนาดจะเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน