แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. ที่ว่า หาก ส. ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน ส. ขอสละสิทธิไม่รับเงินประกัน แม้จะตกลงกันก่อนที่โจทก์จะจ้าง ส. แต่ก็เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 151
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการบริการทางการเงิน (รับจัดไฟแนนซ์) ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 11/2546 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนคำสั่งวางเงิน 10,000 บาท
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินประกันจำนวน 10,000 บาท ที่โจทก์เรียกเก็บจากนางสาวสุดารินทร์ (ลูกจ้าง) โดยมีข้อตกลงว่าลูกจ้างจะต้องทำงานกับโจทก์อย่าง 24 เดือน หากลูกจ้างออกจากงานก่อนครบ 24 เดือน ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินประกันคืน ข้อตกลงดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะหรือไม่นั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2545 โจทก์จ้างนางสาวสุดารินทร์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานการเงินและสินเชื่อ โจทก์เรียกเก็บเงินประกันการทำงานและประกันความเสียหายในการทำงานจำนวน 10,000 บาท จากนางสาวสุดารินทร์โดยมีข้อตกลงว่าหากนางสาวสุดารินทร์ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน นางสาวสุดารินทร์ขอสละสิทธิ์ไม่รับเงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 นางสาวสุดารินทร์ยื่นหนังสือลาออกจากงานและไม่มาทำงานให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 นางสาวสุดารินทร์ซึ่งทำงานไม่ครบ 24 เดือน โจทก์จึงไม่คืนเงินประกันจำนวน 10,000 บาท ให้แก่นางสาวสุดารินทร์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้าง หรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี” ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางสาวสุดารินทร์ที่ว่า หากนางสาวสุดารินทร์ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน นางสาวสุดารินทร์ขอสละสิทธิไม่รับเงินประกันแม้จะตกลงกันก่อนที่โจทก์จะจ้างนางสาวสุดารินทร์ แต่ก็เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์คืนเงินประกันแก่นางสาวสุดารินทร์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน