คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอให้พิจารณาใหม่ (ไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายขอ) ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องตามวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 1(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
คำฟ้องนั้น กฎหมายบัญญัติให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่งเมื่อคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่.ไม่จัดการนำส่งสำเนาคำขอให้พิจารณาแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำสั่งศาลจึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้อง ศาลย่อมมีคำสั่งจำหน่าย(คดี) คำขอให้พิจารณาใหม่นั้นเสียได้
(เฉพาะปัญหาที่ว่า คำขอให้พิจารณาใหม่เป็นคำฟ้อง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างและนายจ้าง
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธความรับผิด
ในวันสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวน แต่ปรากฏตามรายงานการส่งหมายว่า จำเลยที่ ๒ ไม่นำส่งหมายนัดให้โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องของจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒)
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดีโดยจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ ๒ ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๓)บัญญัติว่า “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดี ไม่ว่าด้วยสมัครใจหรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ ๒ จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้
เมื่อคำขอให้พิจารณาใหม่เป็นคำฟ้องดังกล่าวแล้ว ตามมาตรา ๗๐แห่งประมวลกฎหมายเดียวกันนี้ในวรรค ๒ บัญญัติไว้ว่า คำฟ้องนั้นให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่ง การที่จำเลยที่ ๒ ไม่จัดการนำส่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งทราบตามที่ศาลได้มีคำสั่ง ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้อง โดยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่า “สำเนาให้โจทก์ นัดไต่สวนคำร้อง โจทก์จะคัดค้านก็ให้คัดค้านเข้ามาก่อนกำหนดนัด” แสดงว่า ศาลมิได้ไต่สวนพยานของจำเลยที่ ๒ เพียงฝ่ายเดียวจำเลยที่ ๒ จึงมีหน้าที่จะต้องจัดการนำส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายทราบ
พิพากษายืน

Share