แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมิได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ,20 ทวิ ส่วนการที่จำเลยเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 มาตรา 6,14,48 การกระทำของจำเลยแยกการกระทำออกจากกันได้และมีเจตนาในการกระทำผิดคนละอย่างด้วยทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อหาการดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และการเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายเพื่อจำหน่ายไว้คนละข้อกัน การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดคนละกรรมต่างกันต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในชั้นฎีกาจำเลยกลับฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าทรัพย์ที่เจ้าพนักงานยึดได้ตามฟ้องเป็นเพียงทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์นำชี้ถึงองค์ประกอบของการกระทำผิดมิใช่ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดหรือได้กระทำผิด จึงริบไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพและยอมรับว่าทรัพย์ของกลางที่โจทก์กล่าวในฟ้องจำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด ทรัพย์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด ข้อฎีกาจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยได้ดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดเบนซินธรรมดา ชนิดเบนซินพิเศษ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยมีมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัดติดตั้งไว้เป็นประจำเพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ประชาชน โดยใช้ชื่อว่าปั้มน้ำมันสมฤทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตราย (เบนซินพิเศษ) จำนวน 900 ลิตร ไว้จำหน่ายขายที่ปั้มน้ำมันสมฤทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมกับยึดน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็วจำนวน 4.6 ลิตร ธนบัตรฉบับละ 20 บาท จำนวน 2 ฉบับ ใบเสร็จรับเงินจำนวน 1 ฉบับ หัวจ่ายน้ำมันจำนวน 2 หัว และน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตราย (เบนซินพิเศษ) จำนวน 900 ลิตร ที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1442/2541 ของศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2521 มาตรา 4, 6 ทวิ, 20 ทวิ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 มาตรา 3, 4, 6, 14, 48, 53 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางทั้งหมดและนับโทษจำเลยต่อจากโจทก์จำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1442/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2521 มาตรา 4, 6 ทวิ, 20 ทวิ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2474 มาตรา 6, 14, 48 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมิได้รับอนุญาตจำคุก 2 เดือน ฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน ริบของกลางทั้งหมด และให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1442/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การที่จำเลยดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมิได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ, 20 ทวิ ส่วนจำเลยเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 มาตรา 6, 14, 48 การกระทำของจำเลยแยกการกระทำออกจากกันได้และมีเจตนาในการกระทำผิดคนละอย่างด้วย ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อหาการดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และการเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายเพื่อจำหน่ายไว้คนละข้อกัน การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดคนละกรรมต่างกันต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ปัญหาตามฎีกาจำเลยต่อไปมีว่า ศาลสั่งริบทรัพย์ของกลางได้หรือไม่ เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะปัญหาข้อเท็จจริงขอให้รอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โดยให้ริบของกลางตามศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในชั้นฎีกาจำเลยกลับฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานยึดได้ตามฟ้องเป็นเพียงทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์นำชี้ถึงองค์ประกอบของการกระทำผิดมิใช่ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดหรือได้กระทำผิด จึงริบไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกทั้งคดีนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและยอมรับว่าทรัพย์ของกลางที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดทรัพย์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด ข้อฎีกาจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน